BLOG

บทความ

พิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่น

พิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่น

ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากกับ “ชาเขียว” หรือคำญี่ปุ่นที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอย่าง “มัทฉะ”

ย้อนกลับไปตอนที่ชาเขียวเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ขนม ไอศกรีมหรือช็อกโกแลต ก็ต้องมีรสชาเขียวผสมอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแบบสอดไส้หรือปรุงแต่งกลิ่นรสต่าง ๆ ชาเขียวเรียกได้ว่าเป็นรสชาติสุดฮิตในยุคนั้นเลยค่ะ

มาจนถึงทุกวันนี้ รสชาเขียวก็กลายเป็นเหมือนรสชาติประจำที่ต้องมีคู่กับช็อกโกแลตไปแล้วก็ว่าได้ค่ะ

จนกระทั่งตอนนี้กระแสชาเขียวกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แต่ในบริบทที่แตกต่างออกไป

ตอนนั้นเราอาจจะนิยมกันเพราะเป็นรสชาติที่แปลกใหม่ แต่ตอนนี้ชาเขียวหรือมัทฉะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเนื่องจากคุณประโยชน์ที่มากมาย ทั้งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการเผาผลาญ และอื่น ๆ สะท้อนถึงมนุษย์เราในปัจจุบันที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นเลยนะคะ


ชาเขียวหรือมัทฉะในประเทศญี่ปุ่นมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเฮอันหรือประมาณศตวรรษที่ 9 ได้นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยพระสงส์ ซึ่งแรกเริ่มการดื่มชาเขียวแพร่หลายแค่ในหมู่พระสงส์และชนชั้นสูงเท่านั้น

ถ้าใครได้เคยอ่านบล็อกเกี่ยวกับ “อิเคบานะ” มาแล้วก็อาจจะคุ้น ๆ เพราะว่ามีประวัติความเป็นมาคล้าย ๆ กันเลยค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละวัฒนธรรมของญี่ปุ่นทั้ง พิธีชงชา การจัดดอกไม้ การเขียนพู่กัน ก็มีความเกี่ยวโยงกันอยู่ค่ะ

อย่างพิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ซะโด” (茶道) มักจะจัดขึ้นในห้องชงชา (茶室) โดยจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ในการชงชา รวมถึงประดับตกแต่งด้วยอิเคบานะหรือการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นซึ่งใช้ดอกไม้ตามฤดูกาล และภาพเขียนพู่กันที่ช่วยเสริมบรรยากาศในห้องชงชา

©Photos: https://en.wikipedia.org/wiki/Chashitsu (User: Gryffindor)

พิธีชงชาถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่มีเสน่ห์น่าสนใจไม่แพ้วัฒนธรรมอื่น ๆ ของประเทศญี่ปุ่น

แรกเริ่มการดื่มชาในประเทศญี่ปุ่นเป็นเพียงการดื่มเพื่อสุขภาพหรือพระสงฆ์ใช้ในการฝึกสมาธิ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้พัฒนาให้มีความสุนทรีย์มากขึ้นจนกลายเป็นพิธีกรรมขึ้นมา และกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่แสนเป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น

หลายคนอาจจะรู้สึกว่าพิธีชงชาเป็นเพียงแค่การดื่มชาเท่านั้น แต่ถ้าได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ จะรู้ว่าพิธีการนี้ได้แฝงความหมายเอาไว้และมีรายละเอียดยิบย่อยมาก ๆ เลยล่ะค่ะ

เริ่มตั้งแต่ประตูห้องชงชาที่ไม่เหมือนประตูทั่วไป เพราะมันเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คล้ายจัตุรัส หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องทำให้เล็กขนาดนี้ จริง ๆ แล้วขนาดที่เล็กกว่าปกตินี้มีความหมายซ่อนอยู่

©Photos: https://www.japan-architecture.org/nijiri-guchi/

สิ่งนี้เป็นนัยยะเพื่อสื่อว่าผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีชงชาล้วนมีความเสมอภาคกัน ไม่ว่าใครที่ผ่านประตูนี้ก็จำเป็นต้องก้มหัวเข้ามา รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงการทำความเคารพหรือถ่อมตน ละทิ้งสถานะทางสังคมและให้เกียรติซึ่งกันและกันทั้งเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน ซึ่งมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวว่าในสมัยก่อนเมื่อซามูไรจะเข้าร่วมพิธีชงชาจะต้องปลดอาวุธดาบออกก่อน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สื่อได้ว่าภายในพิธีชงชานั้นจะมีแต่ความสงบสุขและเคารพซึ่งกันและกันค่ะ

©Photos: https://www.japan-architecture.org/nijiri-guchi/

เมื่อเจ้าบ้านหรือผู้ชงชาเสิร์ฟชาให้กับเรา ใช่ว่าจะสามารถยกดื่มได้เลยเหมือนปกติ จริง ๆ แล้วมีขั้นตอนอยู่ด้วยค่ะ

เมื่อเราได้รับถ้วยชามา ผู้ชงชาจะเสิร์ฟโดยหันลวดลายของถ้วยมาหาเรา สิ่งที่เราต้องทำคือเมื่อประคองถ้วยชาขึ้นมาแล้วให้วางถ้วยไว้บนมือซ้ายและใช้มือขวาค่อย ๆ หมุนตามเข็มนาฬิกาให้ลวดลายหันออกไปด้านนอกแทน แล้วจึงค่อยดื่ม ขอบปากถ้วยจะได้ไม่เลอะในบริเวณลวดลายที่สวยงามค่ะ ระหว่างนั้นให้เราดื่มด่ำกับชาเขียวที่ผู้ชงชาบรรจงชงให้อย่างช้า ๆ ค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีหลักการเช่นกัน โดยเราจะไม่ดื่มรวดเดียวหมด ต้องค่อย ๆ ดื่มประมาณ 2-3 ครั้งจนหมด เมื่อดื่มเสร็จให้เช็ดขอบถ้วยบริเวณที่เราดื่มด้วยกระดาษที่เสิร์ฟมากับขนมค่ะ และอย่าลืมชื่นชมความสวยงามของถ้วยชากันด้วยนะคะ 😄


ซึ่งขนมที่เสิร์ฟมา (โดยปกติจะเสิร์ฟก่อนชาเขียว) ก็คือขนมญี่ปุ่นหรือเรียกกว่าวากิชิ (和菓子) โดดเด่นด้วยรสชาติที่หวาน เข้ากับชาเขียวบริสุทธิ์ที่มีรสชาติขมค่ะ ในแต่ละฤดูกาลของประเทศญี่ปุ่นก็จะเสิร์ฟขนมแตกต่างกันไปทั้งสี่ฤดู อย่างในภาพทุกคนน่าจะเดาออกว่าเป็นฤดูใบไม้ร่วงใช่ไหมคะ 😊🍁


นอกจากขนมหวานที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลแล้ว อุปกรณ์ในการชงชาก็เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเช่นกัน เช่น ในฤดูหนาวก็จะใช้หม้อเหล็กและถ้วยเซรามิกที่มีความหนาที่สามารถกักเก็บความร้อนได้ดีกว่า รวมถึงลวดลายของถ้วยชาก็จะเลือกสีสันให้เข้ากับฤดูกาลเช่นกัน

พิธีชงชามักจะจัดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษหรือต้อนรับแขก ถือเป็นธรรมเนียมที่ช่วยฝึกจิตใจให้สงบ และเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันอย่างเป็นมิตรและเท่าเทียม ไม่ใช่แค่การดื่มชาธรรมดาแต่มีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ด้วย เป็นวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์มากเลยว่าไหมคะ

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น

พิธีชงชาของญี่ปุ่นยังมีพิธีการที่เรียกว่า “ฮะสึกามะ” (初釜) คือพิธีชงชาครั้งแรกของปี โดยคำว่า “ฮะสึ” (初) แปลว่า “ครั้งแรก” และ “กามะ” (釜) แปลว่า “หม้อต้มน้ำ” หมายถึงการใช้หม้อต้มน้ำอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของปีนั่นเองค่ะ ปกติมักจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ถือเป็นโอกาสพิเศษที่เจ้าภาพจะแสดงความขอบคุณแขกและเริ่มต้นปีใหม่อย่างเป็นสิริมงคล


โดยพิธีการนี้ไม่ได้มีเพียงการดื่มชาเท่านั้น แต่ยังมีการรับประทานอาหารสำรับแบบญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า “ไคเซกิ” (懐石) อีกด้วย ซึ่งในสำรับจะประกอบไปด้วยข้าวที่หุงกับถั่วแดง เรียกว่า เซกิฮัง (赤飯) ที่มักจะรับประทานในวันสำคัญ และอาหารประเภทย่าง ทอด ต้ม


และหลังจากที่รับประทานอาหารคาวเสร็จเรียบร้อยก็จะเป็นพิธีดื่มชาค่ะ


จะว่าไปคนญี่ปุ่นนี่มีธรรมเนียมที่เกี่ยวกับครั้งแรกของปีเยอะมากเลยนะคะ ทั้งพิธีชงชาครั้งแรกของปี (初釜) การไปสักการะที่วัดครั้งแรกของปี (初詣) การชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปี (初日の出) หรือแม้แต่ความฝันในคืนแรกของปี (初夢) ที่มีความเชื่อว่าจะสามารถทำนายดวงชะตาในปีนั้นได้

ชาวญี่ปุ่นนี่ให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นใหม่มาก ๆ เลยนะคะ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่น่าประทับใจมากเลยค่ะ 😊

ใครที่ชื่นชอบญี่ปุ่นแนะนำให้ลองไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปีใหม่และลองทำตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นดูสักครั้งนะคะ คิดว่าน่าจะได้พลังบวกกลับมาด้วยแน่นอน! 💗