BLOG
บทความ
หลังจากท้องอิ่มการเดินทางอย่างแท้จริงก็ได้เริ่มต้นขึ้น…
สถานที่แรกที่พวกเรามุ่งหน้าเดินทางไปก็คือ ศาลเจ้าคิบิสึ (Kibitsu Shrine)
ว่ากันว่าศาลเจ้าแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับตำนานโมโมทาโร่
ที่นี่เป็นศาลเจ้าที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน สร้างเพื่อถวายให้กับดวงวิญญาณของเทพเจ้าคิบิสึฮิโกะ ในตำนานยักษ์แห่งอุระต้นแบบของนิทานพื้นบ้านโมโมทาโร่ของญี่ปุ่น
กว่าจะไปถึงวัดก็บ่ายคล้อยแดดเริ่มหุบ
จากที่จอดรถมีป้ายทางเข้าวัดชัดเจน พร้อมแผนที่พื้นที่ภายในวัด ว่าอะไรตั้งอยู่จุดไหน ดูแล้วก็กว้างขวางพอสมควร
ก่อนเข้าไปยังพื้นที่ของศาลเจ้าตามธรรมเนียมก็ต้องชำระล้างสิ่งสกปรกของร่างกาย ทั้งมือซ้าย มือขวา และปากของเรา วิธีการล้างมือมองเผินๆ เหมือนจะยาก พอได้ลงมือแล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด
ขั้นแรกใช้มือขวาหยิบกระบวย ตักน้ำมาล้างมือซ้าย จากนั้นเปลี่ยนมาถือกระบวยด้วยมือซ้าย แล้วล้างมือขวา ต่อมาเปลี่ยนมาถือกระบวยด้วยมือขวา ตักน้ำแล้วเทใส่มือซ้ายแล้วล้างปาก จากนั้นเทน้ำในกระบวยล้างมือซ้ายอีกครั้ง ส่วนน้ำที่เหลือในกระบวยนั้นให้ตั้งขึ้นให้น้ำไหลลงมาล้างด้ามจับกระบวย แล้วให้คว่ำกระบวยไว้ที่เดิม
หลังจากเราชำระล้างร่างกายเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็สามารถเข้าไปในพื้นที่ศาลเจ้าได้อยากสบายใจ
บันไดหินที่ปรากฏเบื้องหน้าไม่สูงและไม่ชันมากนัก แต่สำหรับผู้สูงอายุอาจจะเป็นเส้นทางที่ท้าทายข้อเข่าไม่น้อย…
เมื่อพ้นบันไดส่วนแรกไป ก็มีบันไดส่วนที่สองรออยู่มีพื้นที่พอให้ได้พักหายใจ ก่อนจะไปกันต่อ!!!
หอสักการะหรือไฮเด็นที่เปิดให้สักการะขอพร
วิธีการสักการะขอพรก็ไม่ยาก เพราะมีป้ายบอกวิธีการสักการะที่สมบูรณ์แบบทั้งภาพประกอบและคำอธิบายภาษาอังกฤษ ช่างน่าประทับในเหลือเกินสำหรับชาวต่างชาติอย่างเราๆ
ขั้นแรก โค้งประมาณ 90 องศา 2 ครั้ง
ขั้นที่สอง ปรบมือ 2 ครั้ง
ขั้นสุดท้าย โค้ง 1 ครั้ง
โค้ง 2 ปรบมือ 2 โค้ง 1 ก็เป็นอันเสร็จพิธี
เดินเข้าไปในพื้นที่วัดก็จะพบต้นแปะก๊วยต้นใหญ่เก่าแก่ อายุมากกว่า 600 ปี
ต้นแปะก๊วยใบสีเขียวชอุ่มในช่วงฤดูใบไม้ผลิยาวไปจนถึงฤดูร้อน และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ใบต้นแปะก๊วยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอร่าม ใบที่ร่วงโรยที่พื้นราวกับพรมสีเหลืองผืนใหญ่ ใบต้นแปะก๊วยสีเหลืองตัดกับลำต้นสีน้ำตาลแก่สวยงามเสียจริง แต่ไม่รู้ว่าคิดเหมือนกันไหม กลิ่นลูกแปะก๊วยก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน
เป็นการต่อสู้ระหว่างกลิ่นที่รุนแรงกับภาพสวยๆ ของต้นแปะก๊วย
ศึกครั้งนี้ไม่ว่ากลิ่นแรงแค่ไหนก็พ่ายความงามของต้นแปะก๊วยสีเหลืองทอง
ช่วงเวลาพิเศษหนึ่งปีมีให้ชมเพียงหนึ่งหนเท่านั้น เรียกได้ว่า ช่วงเวลาทองของจริง…
เมื่อเข้าไปด้านในของพื้นที่ศาลเจ้าก็จะพบกับศาลเจ้าอิจิโดชะ (一童社) ที่สถิตของเทพเจ้าแห่งการศึกษาและศิลปะ
มีอุโมงค์ที่เต็มไปด้วยแผ่นไม้เอมะ หรือแผ่นไม้ขอพรของคนญี่ปุ่น ซึ่งล้วนขอพรเกี่ยวกับการสอบและการแข่งขันต่างๆ
ที่นี่เป็นสถานที่ที่เหล่านักเรียนที่กำลังจะสอบ หรือนักกีฬาที่กำลังจะเข้าแข่งขัน มักมาขอพรให้ประสบความสำเร็จ
ต่อไปเป็นจุดไฮไลต์ของศาลเจ้าแห่งนี้นั่นก็คือ ระเบียงทางเดินที่ทอดยาวระยะทาง 360 เมตร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด
จุดนี้กลายเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมที่บางคนก็แต่งตัวพร้อมถ่ายรูปมาเพื่อถ่ายรูปสวยๆ เลยทีเดียว เหล่าคอสเพลย์ก็มาเยือนมิใช่น้อย
เมื่อเดินผ่านระเบียงทางเดินไปเรื่อยๆ ก็จะมีอาคารโอคะมะเด็น (御釜殿) สำหรับประกอบพิธีนารุคามะจินจิ (鳴釜神事) ที่จะทำนายดวงชะตาจากเสียงที่เกิดขึ้นตอนหุงข้าว ที่จะประกอบพิธีทุกวัน (ยกเว้นวันศุกร์) ระหว่างเวลา 9.00 – 15.00 น. สำหรับใครที่อยากลองเข้าร่วมพิธีนี้สักครั้งก็สามารถมาได้ ตามวันเวลาที่กำหนด หรือใครอยากชมบรรยากาศเฉยๆ ก็เพียงพอก็สามารถแสกน QR Code ที่อยู่ด้านหน้าอาคารเพื่อชมภาพ VR เสมือนจริงได้เลย
เมื่อชมเรียบร้อยแล้วก็เดินออกประตูด้านข้าง เพื่อกลับไปยังลานจอดรถ
ระหว่างทางก็ได้พบกับสวนสวยมีน้ำล้อมรอบ สะพานพาดผ่านไปยังศาลาสีแดงกลางน้ำโดดเด่นชวนให้หยุดมองและสงสัยว่าที่นี่คือที่ไหน?
ศาลาสีแดงกลางน้ำก็คือ ศาลเจ้าอุกะ (宇賀神社) ซึ่งผู้คนมักมาขอพรเรื่องการค้าขาย
อันที่จริงมีเรื่องน่าสับสนเล็กน้อยเพราะชื่อศาลเจ้าสองแห่งในโอคายามะมีชื่อคล้ายกันจนชวนสับสน “ศาลเจ้าคิบิสึ” (Kibitsu Shrine) และ “ศาลเจ้าคิบิสึฮิโกะ” (Kibitsuhiko Shrine) โดยสองศาลเจ้านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านโมโมทาโร่ ศาลเจ้าฮิบิสึนั้นจะมีทางเดินยาวเป็นไฮไลต์ ส่วนศาลเจ้าคิบิสึฮิโกะนั้นจะมีเครื่องรางลูกพีชขาวหน้าตาน่ารัก
เผลอแพล็บเดียวก็ใกล้ค่ำแล้ว สถานที่สุดท้ายในวันนี้จะพาไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ “ภูเขาโอจิกาทาเกะ” (王子が岳) กัน
และนี่คือ “การชมพระอาทิตย์ตกครั้งแรกที่จังหวัดโอคายามะ”
ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่จะได้ชมทิวทัศน์ของเกาะแก่งน้อยใหญ่ที่ลอยอยู่ในทะเลในเซโตะ นอกจากนี้ยังมีหินรูปทรงแปลกๆ ให้ได้ตามหา ไม่ว่าจะเป็น “หินยิ้ม” หรือนิโกะนิโกะอิวะ, “หินคุณลุง” หรือโอจิซังอิวะ และ “หินแกะ” หรือฮิสึจิอิวะ ที่จะตั้งชื่อตามรูปทรงของหิน
ลองทายกันดูว่า นี่คือหินอะไรนะ
. . .
. .
.
นี่คือ หินยิ้ม =]
ชมทะเลไปสักพัก พระอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำลง แสงสีทองฉาบทั่วผิวทะเลในเซโตะ ทอประกายระยิบระยับ
ช่างเป็นบรรยากาศที่เงียบสงบและแสนโรแมนติกสุดจะบรรยาย
ส่งท้ายวันด้วยภาพทะเลในเซโตะที่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน
จะจากจังหวัดโอคายามะ หรือคางาวะ ก็ชวนให้ตกหลุมรักไปหมด