BLOG
บทความ
นัตโต หรือ “ถั่วเน่า” ที่เราคุ้นเคย
รสชาติ รสสัมผัสที่ยากจะลืมเลือน
วัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น เมนูคู่โต๊ะอาหารมาอย่างยาวนาน
จนเป็นที่รู้กันว่าวันที่ 10 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันนัตโต (Natto day) ค่ะ
เกิดจากการพ้องเสียงของนัตโต (納豆) นัต(なっ=7) โต (とう=10)ญี่ปุ่นจะลำดับเป็นปี เดือน วัน
วันที่ 10 เดือน 7 จึงเป็นวันนัตโตค่ะ
นัตโต (納豆-Nattō) ทำจากถั่วเหลืองนำไปหมักด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ natto จนมียางเหนียวหนืดยืด มองดูละหม้ายคล้ายคาราเมล
ทว่ารสชาติ กลิ่น และรสสัมผัสนั้นช่างจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงค่ะ
ในการ์ตูน ละคร และภาพยนตร์ญี่ปุ่น มักจะเห็นตัวละครคลุกๆ นัตโต เหยาะโชยุนิดหน่อย บ้างก็ใส่มัสตาร์ด คลุกๆ คลุกๆ ด้วยตะเกียบจนยางยืด ประหนึ่งชีสในพิซซ่า ^^; จากนั้นก็โปะลงบนข้าวสวยร้อนๆ เป็นอาหารเช้า
การกินนัตโตจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้ชื่นชอบและสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ที่หวังว่าจะกินได้ในสักวันหนึ่งค่ะ
อาหารที่อุดมไปด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ดี ทำให้ขับถ่ายได้อย่างคล่องตัว ช่วยให้เริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดใส
แถมยังเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน โปรไบโอติกส์ วิตามินบี 12 และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลอีกด้วยค่ะ
จะเรียกถั่วเน่าก็ดูใจร้ายเกินไปนะคะ
รู้หรือไม่?
เมืองมิโตะ (Mito City) จังหวัดอิบารากิ เป็นแหล่งผลิตนัตโตที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น !!!
ในร้านอาหารที่เมืองนี้มีเมนูนัตโตมากมายให้เลือกรับประทาน
สำหรับคนที่ไม่เคยลองกินนัตโต หรือเคยลองแล้วแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะรสชาติและสัมผัสนั้นได้
หากได้มาลองรับประทานนัตโตของเมืองมิโตะ จะสามารถทะลายกำแพงที่มีระหว่างเรากับนัตโตได้เลยค่ะ
อร่อยและรับประทานง่าย เหมือนได้เคี้ยวถั่วเนื้อแน่น มีรสฉุนออกจมูกเหมือนกินวาซาบิหรือมัสตาร์ดค่ะ
ทำไมนัตโตของมิโตะถึงได้โด่งดังในญี่ปุ่น ขนาดที่ว่าพูดถึงนัตโต เป็นต้องนึกถึงมิโตะ
‘นัตโต มิโตะ นัตโต มิโตะ ♪’ เหมือนโดนสะกดจิตเลยนะคะ
ไปทำความรู้จักของนัตโตของมิโตะกันค่ะ
Go go go~~
เมืองมิโตะเป็นแหล่งผลิตนัตโตมาอย่างยาวนาน หลายร้อยปีก่อนก็ว่าได้ค่ะ
ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดอิบารากิสามารถทำนัตโตแสนอร่อยได้ เพราะความอร่อยของนัตโตของที่นี่คือ เมล็ดถั่วค่ะ
ย้อนไปในอดีตที่ระบบชลประทานการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเพิ่งเริ่มต้น และยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน เมื่อเข้าฤดูน้ำหลาก ซึ่งไต้ฝุ่นมักแวะเวียนมาในฤดูใบไม้ร่วง น้ำจะท่วมพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำนาคะซึ่งไหลจากตอนเหนือมายังพื้นที่ตอนกลางของจังหวัด ภัยพิบัติจากน้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ด้วยเหตุนี้ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ จึงได้ส่งเสริมให้ปลูกถั่วเหลืองวาเสะ หรือ วาเสะไดสุ (早生大豆) ซึ่งเป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูที่ไต้ฝุ่นจะมาเยือน
ทว่า ถั่วเหลืองวาเสะเมื่อเทียบกับถั่วเหลืองทั่วไปที่เก็บเกี่ยวหลังไต้ฝุ่นนั้นเมล็ดจะมีขนาดเล็ก เอาไปแปรรูปเป็นเต้าหู้และมิโซะก็ดูไม่ค่อยเหมาะนัก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่แม้จะเป็นถั่วเม็ดเล็กก็ยังสามารถอร่อยไปกับความจิ๋วแต่แจ๋วแบบนี้ได้
จึงบังเกิดเป็น “นัตโต” ขึ้นมา
นัตโตของมิโตะจึงมีเม็ดเล็กกว่าที่อื่น ถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่
ในสมัยนั้นสำหรับคนจากนอกพื้นที่นัตโตเม็ดเล็กดูเรื่องแปลกใหม่ก็ว่าได้
นัตโตของมิโตะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสมัยเมจิ ซึ่งเป็นสมัยที่เริ่มเปิดเส้นทางเดินรถไฟสายโจบัง (Joban Line)
ในสถานีมิโตะเริ่มวางจำหน่ายนัตโต ถั่วนัตโตเม็ดเล็กที่คีบขึ้นมาพร้อมข้าวได้อย่างง่ายดาย “ถั่วเม็ดเล็กและอร่อย” รสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อมาที่มิโตะผู้คนก็จะซื้อกลับไปเป็นของฝาก ทำให้วัฒนธรรมอาหาร “นัตโต มิโตะ” แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นของขึ้นชื่อที่คนญี่ปุ่นรู้กันว่า ถ้ามามิโตะ ก็ต้องซื้อนัตโตค่ะ
นัตโตของเมืองมิโตะ ที่เม็ดเล็กที่ในเวลากินกับข้าวจะคีบได้ง่าย ยางที่เกาะบนนัตโตก็จะยืดได้ดีกว่า รสชาติที่มีเอกลักษณ์และอัดแน่นเข้มข้นจึงล้วนเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของนัตโต
นัตโตที่จำหน่ายก็มาในบรรจุภัณฑ์หลายแบบทั้งแพ็คมาในกล่องพลาสติกที่พบได้บ่อยในซุปเปอร์มาเก็ต แบบสมัยก่อนห่อนัตโตด้วยฟางเรียกว่า “วารัตโตะนัตโต” (わらつと納豆) ก็มีค่ะ
★กว่าจะมาเป็นนัตโตแสนอร่อยต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
ขั้นแรกคือการคัดเลือกเมล็ด วัตถุดิบสำคัญของนัตโต คัดสิ่งแปลกปลอมพวกหินกรวดที่ปนอยู่ในถั่วและคัดถั่วที่ไม่ได้คุณภาพออก จากนั้นล้างทำความสะอาด และเพิ่มความชื้นให้ถั่ว แล้วนึ่งในหม้อแรงดันสูง เมื่อได้ที่ก็รดเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ natto และนึ่งต่อในความร้อน 70 – 90 องศาเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการเจริญเติบโต
ย้ายนัตโตเข้าไปในภาชนะที่จะทำการหมัก จากนั้นก็ย้ายเข้าห้องที่อุณหภูมิพอเหมาะเพื่อให้เชื้อเจริญเติบโต ประมาณ 16 – 24 ชั่วโมง เมื่อได้ที่ก็ย้ายเข้าไปในห้องลดอุณหภูมิลงเพื่อให้แบคทีเรียนัตโตได้พักผ่อน หยุดเจริญเติบโต และสุดท้ายก็ย้ายใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายค่ะ
กว่าจะได้มาเป็นนัตโต 1 กล่อง ต้องอาศัยความใส่ใจพอสมควรเลย
สินค้าจากนัตโตในเมืองมิโตะก็มีมากมาย เมนูอาหารที่ใส่นัตโตก็หลากหลาย สำหรับผู้เริ่มต้นขอแนะนำขนม Umaibo ข้าวโพดอบกรอบชื่อดังของญี่ปุ่น ที่นี่มีรสนัตโตจำหน่ายด้วยค่ะ
นัตโตด็อก (Nutto dog) ขนมปังผ่าครึ่งปูด้วยนัตโตตามมาด้วยไส้กรอก ด้านบนโรยด้วยท็อปปิ้งที่ชอบ ชิ้นนี้โรยด้วยปลาชิราสุค่ะ อีกรสชาติที่อยากให้ลิ้มลองค่ะ
ที่เมืองมิโตะมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อาทิ สวนไคราคุเอน (Kairakuen Garden) สถานที่ชมดอกบ๊วยยอดนิยมค่ะ
มาเที่ยวเมืองมิโตะ อย่าลืมลองรับประทานนัตโตนะคะ