BLOG
บทความ
ศาลเจ้าโคโตฮิรากู หรือที่ชาวเมืองโคโตฮิระรู้จักกันนาม “คนปิระซัง” ศาลเจ้าที่ต้องอาศัยทั้งแรงกายแรงใจเพื่อเดินมุ่งหน้าขึ้นสู่ด้านบน สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำของจังหวัดคางาวะ
ครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วนะที่มาเยือน Kagawa อืม…น่าจะเป็นครั้งที่ 11 ก็ว่าได้ ทว่าการเดินขึ้นไปถึงศาลเจ้าโคโตฮิรากูนั้นเคยเดินขึ้นไปเพียง 2 ครั้งเท่านั้น หากเทียบกันแล้วก็ถือว่าน้อยพอสมควรเลย หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มซาลง เมื่อมีโอกาสได้กลับไปเยือนคางาวะอีกครั้งในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เลยถือโอกาสขึ้นไปศาลเจ้าโคโตฮิรากู เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยเสียหน่อย
เกือบ 10 ปีแล้วที่ไม่ได้มาที่นี่…
แน่นอนว่าร้านรวงด้านหน้าศาลเจ้าเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนเยอะ มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ดึงดูดวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี กลิ่นอายแบบดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ ความคึกคักของย่านนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ระหว่างเดินเลียบไปตามร้าน บันไดหินสูงชันก็ตระหง่านอยู่เบื้องหน้า
การท้าทายตัวเองกำลังจะเริ่มต้น ณ บัดนี้!!!
ระหว่างทางที่เดินขึ้นไปนั้นก็มีคนสวนทางกลับมาอยู่ไม่ขาดสาย มีหลากหลายวัยทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน และเหล่าผู้สูงวัยทั้งหลาย
เดินได้พักหนึ่งจังหวะก้าวเท้าขึ้นไปนั้นก็ค่อยๆ ช้าลงๆ
หรือเพราะเราออกตัวช้าไปหน่อย เพราะตอนนี้พระอาทิตย์ก็อยู่ตรงกลางหัวเลย
แดดและอุณหภูมิเดือนกันยายนก็ใช่เล่นเหมือนกันนะนี่
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้แต่คิดอยู่ในใจ
จึงแวะพักชมสิ่งที่น่าสนใจชั่วครู่ชั่วคราวให้หายเหนื่อยเสียหน่อย
คนที่ก่อนหน้านี้เคยเดินไปในจังหวะเดียวกันค่อยๆ แซงไปที่ละคนสองคน
ได้แต่คิดในใจใครรีบ ใครไหวไปก่อนเลย…
ในที่สุดก็เดินขึ้นมาถึงประตูใหญ่หรือโอมง
บันไดขั้นที่ 365 ที่เมื่อเดินเข้าไปจะเจอร้านขาย “ขนมคามิโยะอาเมะ” (加美代飴) ลูกอมแผ่นใหญ่รูปพัดคลี่สีเหลืองทอง ตรงกลางมีตัวอักษรจีนที่หมายถึงทอง สีและรูปร่างของขนมยิ่งชวนให้คิดถึงศาลเจ้าโคโตฮิรากู ชื่อขนมคามิโยะ (加美代) นั้นมาจากคามิโยะ (神代) ซึ่งหมายถึง ยุคสมัยแห่งเทพเจ้า ขนมคามิโยะอาเมะจึงเป็นลูกอมแห่งความโชคดีที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้านั่นเอง ขนมชนิดนี้จำหน่ายที่ศาลเจ้าโคโตฮิรากูมายาวนานมากกว่า 700 ปีแล้ว
ต้องขอบคุณคุณน้าที่นั่งขายของบนแคร่ที่ยื่นขนมคามิโยะอาเมะ ที่หวานฉ่ำได้กลิ่นหอมส้มยูสุจางๆ
ได้น้ำตาลมาเติมพลังให้กลับมามีแรงฮึดเดินต่อขึ้นไปได้อีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว
เพียงแตะที่ปลายลิ้นก็สัมผัสได้ถึงความสดชื่นที่ถาโถมเข้ามา ใจคิดอยากจะซื้อขึ้นมาในทันทีหรือนี้คือการตลาดนะ อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากแบกอะไรขึ้นไปแล้วเพราะลำพังแค่ประคองร่างกายให้เดินไปก็แทบจะเป็นเรื่องยากแล้ว เลยตัดสินใจเดินต่อไป
หลังจากขึ้นบันไดมาประมาณหนึ่งในที่สุดก็มาถึงทางราบให้ได้เดินสบายๆ หายใจหายคอบ้าง
เพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีบันไดก็ได้ปรากฏเบื้องหน้าอีกครั้ง
เมื่อเดินขึ้นไปก็จะเจอแผนที่บริเวณศาลเจ้าคอยบอกว่าตอนนี้อยู่ที่ใด นึกเสียใจไม่น่าไปดูเลย เหมือนเป็นการบั่นทอนกำลังใจซะงั้น
ได้แต่คิด หนทางยังอีกยาวไกล ค่อยๆ เดินไปละกัน
และจุดที่มีแผนที่นั้นเป็นจุดสุดท้ายที่มีห้องน้ำ ไปทำตัวให้เบากันก่อนจะออกเดินทางน่าจะดีกว่า แถมตรงนั้นยังมีม้าสีขาวที่ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ เป็นพาหนะของเทพเจ้า ก็สามารถไปยืนดูห่างๆ ให้กำลังใจได้ อย่าลืมปิดแฟลชก่อนถ่ายรูปเด็ดขาด
ม้าทั้งสองเนื้อหอมพอตัวใกล้ๆ คอกไม่เคยว่างเว้น หาจังหวะเข้าไปไม่ได้เลย เลยได้แต่มองดูอยู่ห่างๆ
แวะพักจุดนี้สักพักหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องเดินต่อ แต่ร่างกายกับรู้สึกหนักอึ้งเหลือเกิน ใจหนึ่งก็คิดอยากจะเดินกลับลงไปเสียดื้อๆ อีกใจหนึ่งก็อยากจะเดินขึ้นไปให้ถึงข้างบน การต่อสู้กันระหว่างร่างกายและจิตใจดำเนินไปครู่หนึ่ง ก็ตัดสินใจเดินขึ้นไปต่อ ไหนๆ ก็มาแล้ว จะมีโอกาสได้เดินขึ้นมาอีกสักกี่ครั้ง
จากนี้ไปเส้นทางการเดินขึ้นบันไดมีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีพื้นราบให้แวะพักเหนื่อยหายใจหายคอบ้างเช่นกัน
ในที่สุดบันไดชุดสุดท้ายที่มุ่งสู่ศาลเจ้าหลักก็อยู่เบื้องหน้า แต่ว่าบันไดนี้เหมือนเป็นบททดสอบสุดท้าย เพราะชันยิ่งกว่าบันไดไหนๆ ที่เดินผ่านมาเลย
รวบรวมแรงกายแรงใจลมหายใจเฮือกใหญ่แล้วก้าวฉับๆ ไปให้ถึง
ในที่สุดศาลเจ้าหลักของศาลเจ้าโคโตฮิรากูก็อยู่ด้านหน้าเราแล้ว!!!
ศาลเจ้าเก่าแก่ที่ชาวเมืองต่างคุ้นเคยในชื่อ “คนปิระซัง” ที่สถิตของ “เทพเจ้าโอโมโนะนุชิโนะคามิ” (大物主神) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล เทพเจ้าแห่งการเดินเรือ เทพเจ้าการเกษตร การแพทย์ ศิลปะและการดนตรี ช่างเป็นเทพที่มีความสามารถหลากหลายเสียจริง
ไหนๆ ก็เกริ่นมาแล้วเริ่มเลยละกัน…
ย้อนเวลาไปในปีวะโดที่ 5 หรือราวๆ ปี ค.ศ. 712 ในหนังสือโกะชิกิ และนิฮงโชะกิ ได้บันทึกไว้ว่า “เทพเจ้าโอโมโนะนุชิได้ปรากฏตัวขึ้นที่ท้องทะเล อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าที่ว่าเป็นเทพเจ้าของงูด้วย จึงเป็นเทพเจ้าที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับน้ำและท้องทะเล” เทพเจ้าโอโมโนะนุชิจึงได้รับการเคารพนับถือในฐานะเทพเจ้าแห่งท้องทะเล เหล่าชาวประมงและเหล่านักเดินเรือในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่จึงมักขอพรให้เดินทางปลอดภัย และขอให้ท่านคุ้มครองขณะอยู่ในทะเล
แล้วทำไมเทพเจ้าแห่งท้องทะเลถึงมาอยู่บนภูเขาสูงแทนที่จะอยู่ใกล้กับทะเลล่ะ?
ภูเขาโคโตฮิระหรือโซซูซัง ที่ตั้งของศาลเจ้าโคโตฮิรากูนั้น มีรูปร่างคล้ายกับโคโต(琴)เครื่องดนตรีประเภทพิณชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น ในสมัยที่การเดินเรือยังไม่ก้าวไกลมากนัก ยังไม่มีเข็มทิศใช้นำทาง เหล่านักเดินเรือนั้นจะต้องใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใช้ค้นหาทิศทางขณะเดินเรือ ทั้งดวงดาวและแสงไฟจากฝั่ง
ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยอันตราย สามารถพรากชีวิตของเหล่านักเดินทางไปอย่างง่ายดาย เหล่านักเดินเรือและผู้เดินทางเมื่อออกเดินทางไปยังท้องทะเลก็เท่ากับว่าต้องไปเผชิญกับอันตรายมากมายที่รออยู่
ด้วยรูปร่างที่โดดเด่นของภูเขาโคโตฮิระ จึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องนำทางที่คอยนำพาเหล่านักเดินเรือเดินทางได้อย่างปลอดภัย เหล่านักเดินเรือที่เดินทางมายังทะเลในเซโตะจึงมีความคุ้นเคยกับภูเขาโคโตฮิระหรือภูเขาโซซูซังเป็นอย่างดี
นี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เทพเจ้าแห่งท้องทะเลได้มาสถิต ณ ที่แห่งนี้
เป็นอย่างไรความเชื่อมโยงนี้ช่างเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือเสียจริง
หลังจากสักการะขอพรและเท้าความเรื่องราวของศาลเจ้าให้ฟังพอหอมปากหอมคอ ก็ขอแวะพักหายใจหายคอพร้อมชมวิวเมืองโคโตฮิระเสียหน่อย
วันนี้อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใสเห็นวิวรอบๆ ได้อย่างชัดเจน
ด้านบนศาลเจ้าหลายๆ อย่าง หลายๆ จุดก็ดูเปลี่ยนไปไม่น้อยเลยทีเดียว
เครื่องรางและเสียมซีมีให้เลือกเยอะมากกว่าแต่ก่อน
แต่ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ อาคารที่แขวนภาพบุคคลสำคัญที่มาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ โดยเฉพาะนักบินอวกาศที่มาขอพรก่อนเดินทางออกไปท่องนอกโลก ได้หายไปทั้งอาคาร เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าที่มีม้านั่งวางเรียงรายให้ได้นั่งพักเหนื่อย
การเดินขึ้นบันได 785 ขั้นแม้ดูเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับใครบางคนกลับเป็นเรื่องพิเศษที่เหมือนได้ท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจที่จะค่อยๆ ขึ้นบันไดมาทีละขั้นทีละขั้น เหมือนเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของชีวิต ดูเหมือนอาจจะเว่อร์ไปหน่อย แต่ความรู้สึกที่ขึ้นบันไดขั้นสุดท้าย แล้วถึงจุดหมายที่เราตั้งตารอคอยมาอย่างยาวนาน ท่วงทำนองที่บรรเลงในหัวตอนนั้นยังดังก้องอยู่ทุกครั้งที่คิดถึง
สุดท้ายแล้วก็พิชิตบันได 785 ขั้นได้แล้ว