BLOG

บทความ

Anpo gaki, ลูกพลับตากแห้งที่ชุ่มฉ่ำ

Anpo gaki, ลูกพลับตากแห้งที่ชุ่มฉ่ำ

แส่ก แส่ก แส่ก 🙏🏻
ทุกคนได้ยินเสียงถูมือด้วยตาอันเป็นประกายของฉันไหมคะ ? 🤩✨

วินาทีนี้จะมีอะไรน่าตื่นเต้นไปกว่าการมีลูกพลับตากแห้งสีส้มสดใสหนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อจากจังหวัดฟุกุชิมะวางอยู่ตรงหน้า ! ลูกพลับตากแห้งที่พวกเราตามหาตั้งแต่ตอนที่แล้วนั่นเอง !



ลูกพลับตากแห้งที่ไม่ใช่เพียงลูกพลับตากแห้งธรรมดา
แต่เป็นลูกพลับตากแห้งที่เรียกว่า “ลูกพลับอันโปะ” (Anpo gaki / あんぽ柿)

————————————————————————–

อันโปะ (あんぽ) : ภาษาภูมิภาคโทโฮคุ แปลว่า แห้ง, ตากแห้ง
กาคิ (柿) : ลูกพลับ

————————————————————————–

ลูกพลับตากแห้งที่อยู่คู่กับจังหวัดฟุกุชิมะมาเป็นเวลากว่า 100 ปี
เมนูแสนวิเศษที่คนญี่ปุ่นนิยมทำไว้กินในช่วงฤดูหนาว อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินซี, แคลเซียม, ไฟเบอร์, เบต้าแคโรทีน, คริปโทแซนทิน และแทนนิน

ขายของกันพอเป็นพิธี เรามาเริ่มพิธีกรรมลองลิ้มชิมรสกันดีกว่าค่ะ ก่อนที่มือของฉันจะถูกันจนเกิดประกายไฟไปเสียก่อน 😅


เนื้อสีส้มสดใสทำหน้าที่แสดงถึงฤดูใบไม้ร่วงได้เป็นอย่างดี แต่ก็พลอยทำฉันให้นึกถึงฤดูร้อนได้ในเวลาเดียวกัน
กลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์
เนื้อแน่น ชุ่มฉ่ำ นิ่มเป็นยางมะตูม หนึบนิด ๆ เหมือนเยลลี่ และรสชาติที่หวานกำลังดี

ลูกพลับอันโปะหนึ่งลูกใหญ่หายไปอย่างรวดเร็ว โดยฉันเอง
นับว่าเป็นอีกประสบการณ์การกินที่รูปลักษณ์ภายนอกและสิ่งที่คิดไม่ตรงกับความเป็นจริงสักเท่าไรนัก

เพราะลูกพลับอันโปะในจินตนาการของฉันนั้นคือลูกพลับตาก “แห้ง” เนื้อแน่นหนึบเหมือนผลไม้ตากแห้งทั่วไปที่อาจมีความอร่อยพิเศษกว่าปกติเล็กน้อย แต่เมื่อได้ลองชิมแล้วกลับต้องประหลาดใจในความชุ่มฉ่ำของเนื้อลูกพลับที่ไม่เคยพบเจอในผลไม้ตากแห้งชนิดไหนมาก่อน 😮 เป็นเนื้อสัมผัสที่ประหลาด แต่ก็อร่อยไปอีกแบบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องกลิ่นที่สำหรับตัวฉันเองแล้วรู้สึกว่าคล้ายกับกลิ่นผลิตภัณฑ์จากผลไม้ที่สุกงอมมาก ๆ และอาจเป็นกลิ่นที่ไม่ค่อยหอมสำหรับใครหลาย ๆ คนนักค่ะ

อีกอย่างที่ทำให้ลูกพลับตากแห้งเป็นสิ่งธรรมดาที่ดูไม่ธรรมดาสำหรับฉันมาตลอดก็คือวิธีการทำลูกพลับตากแห้งของชาวญี่ปุ่น ที่นำลูกพลับไปผูกหรือร้อยเข้ากับเส้นเชือกแล้วจึงนำไปแขวนไว้บริเวณปลายหลังคาบ้าน สำหรับฉันแล้วลูกพลับที่ผูกกับเชือกและห้อยเรียงกันเป็นแผงเป็นอะไรที่สวยและมีเสน่ห์มาก เรียกได้ว่าการทำลูกพลับตากแห้งนั้นเหมือนศิลปะแขนงหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ

การทำลูกพลับอันโปะได้รับการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 โดยเริ่มจากขั้นตอนทั่วไปอย่างการเก็บลูกพลับฝาด*ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ลูกพลับที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้คือลูกพลับพันธุ์ฮาชิยะ (Hachiya) และลูกพลับพันธุ์ฟูยุ (Fuyu) เพราะมีปริมาณน้ำตาลที่สูงและเหมาะกับการนำมาตากแห้ง บรรจงปอกเปลือกลูกพลับแล้วนำไปรมควันกับกำมะถันเพื่อให้ลูกพลับมีสีส้มสวยงาม จากนั้นนำไปตากแห้งโดยแขวนไว้ที่บริเวณปลายหลังคาบ้านหรือที่มีลมพัดผ่านดี ไม่โดนน้ำ และควรเป็นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ❄️ ตากไว้ประมาณ 1 – 2 เดือนจึงสามารถกินได้ เพราะลูกพลับอันโปะใช้เวลาในการตากแห้งน้อยกว่าลูกพลับตากแห้งแบบอื่น ๆ จึงทำให้มีปริมาณน้ำมากถึง 50% ในขณะผลไม้แห้งทั่วไปจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น


สำหรับใครที่อยากลองชิมลูกพลับอันโปะ สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าท้องถิ่น จังหวัดฟุกุชิมะ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ


————————————————————————–

ℹ️ ที่ญี่ปุ่นมีการแบ่งพลับเป็น 2 ประเภท

1. พลับหวาน (อามะกาคิ / 甘柿)
พลับที่มีรสฝาดเมื่อยังไม่สุก และมีรสหวานตามธรรมชาติเมื่อสุก สามารถกินสดได้
2. พลับฝาด (ชิบุกาคิ / 渋柿)
พลับที่มีรสฝาดทั้งตอนยังไม่สุกและตอนที่สุกแล้ว ไม่สามารถกินสดได้ เหมาะกับการนำมาตากแห้ง

————————————————————————–

ℹ️ ประเภทของลูกพลับตากแห้งในญี่ปุ่น

1. โฮชิกาคิ (Hoshi gaki / 干し柿)
ลูกพลับแห้ง 100% ใช้เวลาในการตากแห้งนานที่สุด รสหวานมากกว่า และมีราคาสูง
2. อันโปะกาคิ (Anpo gaki / あんぽ柿)
ลูกพลับกึ่งแห้ง ใช้เวลาในการตากแห้งไม่นาน รสหวานกำลังดี

————————————————————————–