BLOG

บทความ

นิทรรศการภาพถ่ายฟุกุชิมะและการรำลึกครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ 2011.03.11

นิทรรศการภาพถ่ายฟุกุชิมะและการรำลึกครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ 2011.03.11

ประเดี๋ยวเดียววันที่ 11 มีนาคม ก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง
คงสงสัยกันว่าวันที่ 11 มีนาคม มีความสำคัญอย่างไร

จะเรียกว่าสำคัญก็คงจะไม่ใช่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
วันที่พรากหลายสิ่งหลายอย่างจากผู้คนหลายต่อหลายคนไป…

วันนี้เป็นวันรำลึกครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในจังหวัดฟุกุชิมะ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เวลา 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูดทางแถบชายฝั่งภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิโถมพัดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางการเกษตรเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ตามมาด้วยแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ระดับ 7 ทำให้เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ (หมายเลข 1) ระเบิด ภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติความเสียหาย ความน่ากลัวของกัมมันตภาพรังสีถูกนำเสนอผ่านสื่อไปทั่วโลก

ความสูญเสียและเสียหายเกิดขึ้นโดยที่ทุกๆ คนยังไม่ทันได้ตั้งตัว

(March 14, 2011)

(April 16, 2011)


(May 25, 2011)

(September 7, 2011)

มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,899 คน ผู้สูญหายอีกประมาณ 2,526 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2564) และอีกหลายครอบครัวที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยโดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แม้ว่าในปัจจุบันได้มีการทำความสะอาดพื้นที่ประสบภัยจนพื้นที่สีแดงเริ่มแล้วลดลงก็ตาม แต่ก็มิอาจรักษาเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

ความเจ็บปวดทางกายที่เกิดขึ้นผ่านไป 11 ปี บาดแผลก็ค่อยๆ ปิดลงอาจเหลือเพียงรอยแผลเป็น ขณะที่จิตใจซึ่งได้รับความเจ็บปวดและบาดเจ็บอย่างหนักนั้นอาจทำได้เพียงเก็บซ่อนเอาไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจ บางคนอาจกำลังรอคอยการกลับมาของคนที่บ้าน การสูญเสียเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัว

เกิดการตั้งคำถามและถกเถียงกันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจำเป็นหรือไม่ ผลดีและผลเสียสิ่งไหนมากกว่ากัน หรือมีพลังงานทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ปัจจุบันจังหวัดฟุกุชิมะกำลังรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากพื้นที่ และหันมาใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกแทน

จังหวัดฟุกุชิมะเป็นที่เดียวในโลกที่ได้เผชิญกับภัยพิบัติทั้ง 3 อย่างในคราเดียว ภายหลังที่ได้รับการฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะได้มีการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “HOPE Tourism” ซึ่งจะช่วยสร้างความหวังให้กับผู้คน แต่เดิมเรียกว่า Fukkou Tourism คำว่า Fukkou ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “การฟื้นฟู” จึงเปรียบเสมือนการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะพาไปตามรอยเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อปี ค.ศ. 2011 ถอดบทเรียนต่างๆ จากเหตุการณ์ และการฟื้นฟูจนสามารถลุกขึ้นยืนหยัดได้อย่างงดงาม

[ พิพิธภัณฑสถานรำลึกภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ]





[ ห้องจัดแสดงอนุสรณ์ภัยพิบัติพลังงานนิวเคลียร์ Furusato ]



[ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พื้นที่ประสบภัยพิบัติโทมิโอกะ ]


รวมถึงการศึกษาดูงานพลังงานทางเลือกต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ อาทิ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานจากหิมะ อีกทั้งหนทางที่จะพัฒนาเพื่ออนาคตที่สดใสของผู้คนบนโลกใบนี้ รวมทั้งเหล่าลูกหลานในอนาคต

[ Commutan Fukushima ]




ว่ากันว่า “เราไม่ได้สืบทอดโลกใบนี้มาจากบรรพบุรุษ แต่เราเพียงแค่ขอหยิบยืมมาจากลูกหลานชั่วคราว หน้าที่ของพวกเราคือ ดูแลและปกป้องรักษาโลกใบนี้เอาไว้”




จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ครบรอบ 11 ปีเต็ม จังหวัดฟุกุชิมะได้ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง จากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ในจังหวัดและชาวเมืองที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งเรื่องที่จังหวัดฟุกุชิมะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย ผ่านการโปรโมทต่างๆ ทั้งงานสัมมนา งานเจรจาธุรกิจ และงานออกบูทท่องเที่ยวต่างๆ

แม้กระทั่งงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในครั้งนั้นได้นำเสนอเสน่ห์ของฟุกุชิมะผ่านฤดูกาลทั้งสี่ให้ทุกคนได้ชม






ในปีนี้นิทรรศการภาพถ่าย “F U K U S H I M A” โดยคุณติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 ได้นำเสนอ “ฤดูหนาว” ของฟุกุชิมะในมุมมองของคุณติ้วผ่านภาพถ่ายแต่ละใบที่จัดแสดงภายในอาคารอาเหนกป้าสง ฝั่งขวา ที่ช่างชุ่ย










ฤดูหนาว…จุดเริ่มต้นการเดินทางไปเก็บภาพในแต่ละฤดู สถานที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถานที่ที่หลายคนที่ชื่นชอบญี่ปุ่นอาจจะพอคุ้นตา ทว่ากลับไม่คุ้นเคย เรื่องราวมากมายที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้นๆ ทั้งมิตรภาพที่เกิดขึ้นกับคนในท้องถิ่นที่แสนเป็นมิตร ใจดี และอบอุ่นขนาดที่ว่าสามารถละลายหิมะในฤดูหนาวได้เลย

ฉะนั้นภาพถ่ายที่จัดแสดงอยู่ภายในงานวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงภาพถ่ายเพื่อแสดงความสวยงามของสถานที่เหล่านั้น แต่กลับอุดมไปด้วยเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายในภาพนั้น






ผู้ชมงานสามารถชมภาพถ่ายท่ามกลางบรรยากาศหิมะโปรยปรายคล้ายฤดูหนาวของญี่ปุ่น ที่ศิลปินได้นำเสนอออกมาเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมภาพมากยิ่งขึ้น

ดื่มด่ำกับภาพและบรรยากาศในฤดูหนาวของฟุกุชิมะได้ที่ห้องจัดแสดง อาคารอาเหนกป้าสง ฝั่งขวา

★ วันจัดแสดง 3 – 31 มีนาคม 2565 (ยกเว้นวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565)

★ เวลา 15.00 – 21.00 น.

★ สถานที่จัดแสดง ช่างชุ่ย (อาคารอาเหนกป้าสง ฝั่งขวา)