BLOG
บทความ
ไหนใครในที่นี้เป็นสายมูบ้างคะ? ที่จริงแล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะว่าจะสามารถนับจำนวนสมาชิกนักอ่านสายมูได้อย่างไร ฉันคงถามให้ดูน่าตื่นเต้นไปเท่านั้นแหล่ะค่ะ… แต่ทุกคนต้องช่วยกันตื่นเต้นหน่อยนะคะ เพราะว่าวันนี้มีเรื่องมูมูมาเล่าค่ะ!
เมื่อไม่นานมานี้ ในระหว่างที่ฉันนั่งดูรูปเก่าๆ ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัวอยู่นั้น สายตาฉันก็ได้ไปสะดุดเข้ากับรูปรูปหนึ่ง จากนั้นฉันก็เริ่มระลึกขึ้นมาได้ว่าฉันตัดสินใจถ่ายรูปนี้ด้วยความคิดในหัวที่ดังไม่หยุดประมาณว่า สิ่งนี้น่าสนใจมาก และฉันคงจะรู้สึกเสียดายมากหากไม่ได้ถ่ายรูปสิ่งนี้เก็บไว้ หลายปีผ่านไปฉันจึงได้นำรูปนั้นมาแบ่งปันให้กับทุกคนได้ดู พร้อมกับเรื่องเล่าต่อไปนี้ค่ะ
รูปที่ทุกคนเห็นเป็นรูปของแผ่นป้ายขอพร หรือที่เรียกว่า “เอมะ” (絵馬) ค่ะ น่ารักมากเลยใช่ไหมล่ะคะ
“เอมะ” (絵馬) เขียนด้วยตัวคันจิ โดยคำว่า “เอ” (絵) นั้นมีความหมายว่า รูป รูปวาด หรือรูปภาพ ส่วนคำว่า “อุมะ” (馬) มีความหมายว่า “ม้า” เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “ภาพม้า” นั่นเองค่ะ
หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า “แล้วภาพม้ามีความเกี่ยวข้องกับแผ่นป้ายไม้ขอพรนี้ยังไง” ใช่ไหมคะ? มาอ่านต่อไปด้วยกันค่ะ!
เอมะ คือเครื่องสักการะตามขนมธรรมเนียมญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นแผ่นไม้ขนาดเท่าฝ่ามือ ไว้ใช้สำหรับเขียนเพื่อขอพรหรือแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้า โดยเราจะได้รับเอมะเมื่อเราทำบุญให้ศาลเจ้าหรือวัดในลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่น
เอมะในปัจจุบันนั้นจะมีรูปแบบและลวดลายต่างกันไปในแต่ละศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้าอินาริ เอมะเป็นรููปสุนัขจิ้งจอก, ศาลเจ้าโทโยคุนิจินจะเป็นรูปน้ำเต้า, ศาลเจ้าคาวาอิจินจะเป็นรูปกระจกถือ ที่มีคิ้ว ตา จมูก ปาก ไว้ให้แบบเรียบง่าย แล้วให้แต่ละคนวาดหน้าตาที่ปรารถนาจะมีลงไปพลางอธิษฐาน ก่อนนำไปแขวนถวาย แต่โดยปกติแล้วเอมะของหลายๆ ศาลเจ้าก็จะเป็นแผ่นไม้รูปทรง 5 เหลี่ยมค่ะ
https://www.jalan.net/news/article/518007/
และก่อนที่จะมาเป็นเอมะในทุกวันนี้นั้นเรื่องราวก็มีอยู่ว่า…
คนญี่ปุ่นสมัยก่อนเชื่อว่าม้าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าได้ และเป็นยานพาหนะของเทพเจ้า จึงมีการนำม้าตัวจริงที่มีชีวิตมาเป็นเครื่องสักการะในพิธีทางศาสนาชินโต ซึ่งในช่วงเวลานั้นคนญี่ปุ่นที่มาขอพรจากเทพเจ้าตามศาลเจ้าต่างๆ จะนิยมนำม้าสีขาวมาถวาย
ในเวลาต่อมาได้มีการนำวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้, ดิน, โลหะ และกระดาษ มาทำเป็นรูปทรงม้า เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าแทน เนื่องจากการใช้ม้าตัวจริงนั้นมีราคาสูง และเป็นภาระในการดูแลสำหรับศาลเจ้า ในภายหลังก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้การวาดรูปม้าลงบนแผ่นไม้ที่มีขนาดเล็กลงแทน จนมาถึงทุกวันนี้ก็ได้มีการดัดแปลงต่างๆ อีกมากมาย เช่น วาดรูปอย่างอื่นนอกจากม้า ทำป้ายเป็นรูปทรงอื่น เป็นต้น
ดูเหมือนว่าจะมีชาวสายมูแถวนี้เริ่มคันไม้คันมือกันแล้วใช่ไหมคะ เกาได้เลยค่ะ! ไม่ใช่สินะคะ…. ไปอ่านกันต่อดีกว่าค่ะ ว่าการขอพรด้วยเอมะนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ขั้นแรกเริ่มจากหาเอมะมาให้ได้ก่อนเลยค่ะ หลังจากนั้นก็เขียนคำขอพร 1 ข้อพร้อมชื่อและที่อยู่ลงไปบนแผ่นป้ายด้านที่ไม่มีรูปภาพหรือลวดลายใดๆ ค่ะ เป็นการเขียนเพื่อให้เทพเจ้ารู้ว่าคำขอนั้นๆ เป็นของใครค่ะ ถ้าจะให้ดีก็ควรเขียนด้วยตัวบรรจงเพื่อให้อ่านง่าย ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ และเขียนด้วยความรู้สึกขอบคุณ เพราะเป็นการเขียนถึงเทพเจ้าค่ะ เมื่อเขียนเสร็จแล้วสามารถนำไปแขวน ณ จุดที่ทางศาลเจ้ากำหนดไว้ให้ได้เลยค่ะ หรือถ้าใครอยากนำเอมะกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกก็ได้นะคะ แต่ควรวางไว้ในที่จุดสักการะบูชาหรือที่สูงเหนือระดับสายตาค่ะ และเมื่อสมหวังตามพรที่ขอไว้ ภายใน 1 ปี อย่าลืมกลับไปสักการะเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพพระเจ้ากันด้วยนะคะ
สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับเอมะ ฉันมี Instagram ของชาวที่ปุ่นที่คอยถ่ายรูปเอมะแบบต่างๆ รวมเอาไว้มาให้ชมกันค่ะ
@ema4649ne
https://www.instagram.com/ema4649ne/
@viva.ema
https://www.instagram.com/viva.ema/
@ema_collecter
https://www.instagram.com/ema_collecter/
สำหรับสายมูท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการขอพร ฉันก็มีศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อในการขอพรด้านต่างๆ มาแนะนำเช่นกันค่ะ เรื่องสุดฮิตในการขอพรคงหนีไม่พ้นเรื่องความรักค่ะ ศาลเจ้าอิซุโมะไทฉะ (จังหวัดชิมะเนะ) และ ศาลเจ้าโตเกียวไดจินกุ (จังหวัดโตเกียว) เป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้มากค่ะ ถ้าจะขอพรเรื่องการศึกษา แนะนำให้ไปที่ศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ (จังหวัดฟุกุโอกะ) ค่ะ และหากจะขอพรเรื่องเส้นผม… ถูกต้องแล้วค่ะ ทุกคนอ่านไม่ผิดแน่นอนค่ะ เส้นผมจำนวนน้อยนิดที่อยู่บนศีรษะพวกเรานี่แหล่ะค่ะ ก็ต้องไปที่ศาลเจ้ามิกะมิจินจะ (จังหวัดเกียวโต) ค่ะ
ส่วนท่านใดที่สนใจเกี่ยวความเป็นญี่ปุ่นและประเทศญี่ปุ่นก็สามารถติดตามอ่านบล็อกของ Kori Planning กันได้นะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ