BLOG
บทความ
* อ่านประสบการณ์โฮมสเตย์ก่อนหน้า
(1) รู้จักกับหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘ชิรามิเนะ’
(2) บ้านนอกของเราไม่เท่ากัน
(3) อย่าลืมฉัน . . .
ถือว่าโชคดีมากในทริปการโฮมสเตย์ครั้งนั้น นอกจากจะได้ทำกิจกรรมอะไรมากมาย ยังได้มาเข้าร่วมเทศกาลประจำปีของหมู่บ้านอีกด้วย
เทศกาลนี้อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนกับเทศกาลอื่น ๆ แต่เป็นการรวมตัวกันของคนในหมู่บ้านและนักท่องเที่ยวเล็กน้อย ซึ่งในครั้งนี้ก็มีพวกเราที่เป็นนักเรียนต่างชาติมาเข้าร่วมด้วยเช่นกัน จำนวนคนไม่ได้เยอะมากมาย แต่ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นราวกับครอบครัวดีเหมือนกันค่ะ
แนะนำให้รู้จักกับเทศกาลกันก่อนสักเล็กน้อย
“เทศกาลฮะคุซัง (白山まつり)” เป็นเทศกาลย้อนรำลึกถึงการค้นพบภูเขาฮะคุซังเมื่อ 1,300 ปีที่แล้ว และภูเขาฮะคุซังแห่งนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 1965 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเทศกาลจะจัดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมของทุกปี ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันด้วยกัน
วันแรกจะเป็นเทศกาลการเต้นรำ โดยผู้คนจะมาล้อมวงเดินเต้นรำรอบเมืองในเพลงท้องถิ่นตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงค่ำ ส่วนจำนวนคนที่จะมาเต้นรำก็จะมีการกำหนดให้เป็น 1,300 คนตามจำนวนปี (ซึ่งไม่รู้ครบจริงหรือไม่) และตั้งแต่วันแรกที่เรามาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ก็ได้รับการเทรนอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญในการเต้นรำประกอบเพลงท้องถิ่นที่จะใช้ในงานเทศกาลที่กำลังจะจัดขึ้น เต้นได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามไม่ทันบ้าง แต่ก็พยายามให้ได้มากที่สุดค่ะ เพราะกลัวจะเต้นไม่เหมือนคนอื่น เดี๋ยวจะเด่นอยู่คนเดียว (555)
เมื่อวันงานมาถึง เราทั้งหมดก็ถูกจับแต่งตัวในชุดยูกาตะสบาย ๆ ในฤดูร้อน แน่นอนว่าถ้ามีงานเทศกาล ก็ต้องมียะไต (屋台) หรือซุ้มขายอาหารนั่นเอง ปกติที่เราเคยไปงานเทศกาลของญี่ปุ่น ก็จะเห็นยะไตเรียงรายเยอะแยะไปหมดจนเลือกกินไม่ถูก แต่สำหรับที่นี่กลับมีเพียงแค่ไม่ถึง 10 ร้าน สมกับเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ จริง ๆ ค่ะ
ในช่วงกลางวันก็จะมีเวทีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ โดยผู้ชมก็จะนั่งเรียงกันที่พื้นโดยมีเสื่อปูให้นั่ง หลังจากนั้นก็เดินเล่นและหาอะไรกินนิดหน่อย ก็รอเวลาเริ่มงานในตอนเย็น
เสียงดนตรีเพลงพื้นบ้านดังไปตามเครื่องขยายเสียง พร้อมกับทุกคนที่ต่อแถวเรียงกัน เต้นรำตามที่เรียนมาไปตามจังหวะ เดินวนรอบ ๆ หมู่บ้าน ในตอนที่ซ้อมวันก่อนก็ยังมีความเป็นจังหวะและพร้อมเพรียงกัน แต่ตัดภาพมาที่ความเป็นจริงดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะเราเต้นเหมือนคนข้าง ๆ คนข้าง ๆ ก็เต้นไม่เหมือนคนข้างหน้า คนข้างหลังก็เต้นไม่เหมือนกัน สรุปก็คือเหมือนที่ซ้อมมาจะไม่มีความหมายซะอย่างนั้น แต่ก็ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกดีเหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่ได้ต้องการความเป๊ะ แต่แค่มีอารมณ์ร่วมเท่านั้นเอง ^^
ส่วนวันที่สองเรียกได้ว่าน่าจะเป็นไฮไลท์ของเทศกาลนี้เลยก็ว่าได้ ในช่วงเช้าเริ่มด้วยขบวนแห่และเดินขบวนอะไรสักอย่างภายในหมู่บ้าน และช่วงสาย ๆ ก็ถึงช่วงไฮไลท์ของเทศกาลที่ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมใหญ่ที่ทั้งน่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจมากเลยทีเดียว เดินถัดออกไปจากตัวหมู่บ้านสักเล็กน้อย ก็พบกับรถแห่เล็ก ๆ คันหนึ่ง ทำจากไม้ซุงขนาดใหญ่ ด้านบนมีถังสาเกขนาดใหญ่ และมีป้ายเขียนไว้ว่า ‘白山延命水’ หรือที่แปลว่า น้ำอายุยืนแห่งฮะคุซัง ด้านหน้าของรถแห่มีเชือกผูกอยู่ 4 เส้น สายทั้งหนาและยาวไปหลายเมตร จากที่ได้ยินมาก็ได้ทราบว่าน้ำในถังเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากภูเขาฮะคุซัง เชื่อว่าถ้าดื่มจะอายุยืน ซึ่งเราจะไม่ได้ดื่มกันตรงนี้ แต่จะไปแจกจ่ายกันดื่มตรงบริเวณศูนย์กลางของหมู่บ้านหรือที่จัดงานหลัก
ความสงสัยที่ว่าเชือกยาว ๆ เอาไว้ทำอะไรก็ถึงบางอ้อ เพราะถึงแม้จะเรียกว่ารถแห่ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่มีล้อ . . .
ไม้ซุงขนาดใหญ่และหนักที่ประกอบกันเป็นพาหนะขนน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่ ไม่อยากจะคิดว่ามันหนักขนาดไหน ซึ่งทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายโดยเชือก 4 เส้นที่ใช้แรงมนุษย์เป็นคนลากนั่นเอง
พอใกล้จะถึงเวลา คนในหมู่บ้านและนักท่องเที่ยวรวมถึงพวกเราก็มารวมกัน ณ จุดเริ่มต้น หยิบเชือกทั้ง 4 เส้นขึ้นมา และเริ่มที่จะกระชากลากถูรถคันนั้นให้เคลื่อนที่ไปยังจุดหมาย เรียกได้ว่ากว่าจะขยับแต่ละเมตรก็ค่อนข้างยากเลยทีเดียว เหมือนกับเล่นชักเย่อเลย
กิจกรรมที่ดูเหนื่อยหน่ายแต่บรรยากาศกลับไม่เป็นแบบนั้น ถึงแม้จะเสียแรงและพลังงานไปมาก แต่ทุกคนก็ยังยิ้มให้กันได้ เมื่อเริ่มจะหมดแรง เหงื่อเริ่มไหลท่วมตัว ทั้งขบวนก็จะหยุดและวางเชือก เพื่อที่จะพักโดยการเต้นรำนั่นเอง พักกับการออกแรงลากดึง มาออกแรงน้อย ๆ กับการเต้นรำเพลงพื้นบ้านของเมื่อวานกัน เคล้าคลอไปกับเสียงเพลงที่เปิดจากเครื่องขยายเสียงพกพาขนาดเล็ก บางคนก็ดื่มเบียร์และสูบบุหรี่ราวกับเป็นงานปาร์ตี้ ซึ่งเมื่อสนุกกันสักครู่ก็กลับมาทำกิจกรรมหลักกันอีกครั้ง
ฉุดกระชากลากถูกันเป็นเวลานานกว่าจะไปถึงจุดหมายกลางหมู่บ้าน ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยแต่กิจกรรมยังไม่จบ ทุกคนต้องได้ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เสียเหงื่อเสียแรงนำพามาจนถึงจุดนี้กันก่อน เมื่อทุกคนได้ดื่มกันเป็นที่เรียบร้อยก็ถือเป็นการจบเทศกาลอย่างสมบูรณ์
บรรยากาศ ณ ตอนนั้นเรียกได้ว่าสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและเป็นมิตรราวกับคนในครอบครัว หลังจากเหน็ดเหนื่อยร่วมกันมาก็เป็นปกติที่จะมีความรู้สึกผูกพันธ์กันมากขึ้น ความสุขดูจะปกคลุมไปทั่วบริเวณ
ความเชื่อที่ใครหลายคนอาจจะมองว่าเป็นแค่ความเชื่อโบร่ำโบราณ น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าไม่รู้จะช่วยได้จริงไหม ยังเห็นคนหลายคนในขบวนดื่มเบียร์เยอะมาก รวมถึงสูบบุหรี่อีกด้วย อายุจะยืนได้จริงเหรอ ? ซึ่งเราก็คิดแบบนั้น แต่เมื่อได้มายืนอยู่ ณ เวลานั้น มองดูคนรอบข้างที่มีแต่รอยยิ้มประดับบนใบหน้า คำถามนี้อาจจะเป็นเพียงแค่คำถามไร้สาระไปเลย เพราะแท้จริงแล้วงานที่จัดขึ้นอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าช่วงเวลาอันมีค่าที่ผู้คนในหมู่บ้านจะได้มาสนุกร่วมกัน หัวเราะร่วมกัน มีความสุขด้วยกัน และสืบทอดประเพณีที่พวกเขาภูมิใจ
การได้มาสัมผัสความรู้สึกและได้ร่วมเทศกาลอันน่าจดจำแบบนี้ ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีเหมือนกันนะเนี่ย ^-^
(แถมรูปดอกไฮเดรนเยียสวย ๆ ในหมู่บ้านค่ะ ^_^)