BLOG

บทความ

บ้านนอกของเราไม่เท่ากัน

บ้านนอกของเราไม่เท่ากัน

การไปโฮมสเตย์หรือไปเข้าค่าย หนึ่งในประสบการณ์ที่มักเอามาเล่าสนุกกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย ต้องหนีไม่พ้นเรื่องห้องน้ำหรือการอาบน้ำว่าไหมคะ ^^

ซึ่งการไปโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านชิรามิเนะของเราในครั้งนั้น ก็สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการอาบน้ำให้เราเหมือนกัน

บ้านที่เราได้ไปพักเป็นบ้านของชาวบ้านที่เปิดให้พักฟรี ซึ่งนักเรียนที่มาด้วยกันทั้งหมดจะปูฟุตงนอนเรียงกัน แยกบ้านชายหญิง มีห้องส้วมให้ใช้สะดวกสบาย บ้านที่ดูเก่า ๆ แต่ส้วมเป็นแบบอัตโนมัติซะด้วย ทุกอย่างดูจะโอเค แต่มีอย่างหนึ่งที่ลำบากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่รวมถึงเราด้วยนั่นก็คือ “ไม่มีห้องอาบน้ำ”


ไม่มีห้องอาบน้ำแล้ว อาบน้ำที่ไหน ?

นี่คือคำถามที่ผุดขึ้นมาทันที ซึ่งอาจารย์บอกว่า ที่นี่เขาไม่ค่อยอาบน้ำกันหรอก เพราะที่นี่อากาศค่อนข้างหนาวเกือบทั้งปี หรือถ้าจะอาบก็จะไปอาบน้ำที่ที่อาบน้ำสาธารณะกลางหมู่บ้านกัน
พอได้ฟังจบก็อึ้งสิคะ สถานที่อาบน้ำมีที่เดียวคือ “ที่อาบน้ำสาธารณะ” ซึ่งที่อาบน้ำสาธารณะคือการอาบน้ำรวม และการอาบน้ำรวมที่ญี่ปุ่นก็หมายถึงว่า ต้องแก้ผ้า… จริง ๆ แล้วคนไทยกับการอาบน้ำรวมดูจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่เลย ซึ่งสำหรับคนไทยอย่างเรา การอาบน้ำรวมที่ต้องแก้ผ้ามันเป็นอะไรที่ Culture shock จริง ๆ นะคะ T_T อาจจะมีคนไทยบางส่วนที่ชอบแช่ออนเซ็นและรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่สำหรับเราเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากค่ะ แล้วมาอยู่ที่นี่ตั้งสามคืนจะทำยังไงล่ะทีนี้

ในเมื่อไม่มีห้องอาบน้ำ เราจึงตัดสินใจที่จะ “ไม่อาบน้ำ” ค่ะ โดยวิธีการแก้ปัญหาของเราก็คือ “ทิชชู่เปียก” แน่นอนว่าในญี่ปุ่นทิชชู่เปียกนั้นมีหลายแบบหลายสไตล์ ทั้งกลิ่นหอมหรือแบบเย็นสดชื่นก็มี เราจึงได้เลือกซื้อตุนไว้สำหรับทริปนี้โดยเฉพาะ (ใจมันไม่พร้อมจะไปอาบน้ำรวมจริง ๆ ค่ะ T_T)

คืนสองคืนแรกเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดีด้วยทิชชู่เปียกคู่ใจ แต่หลัง ๆ ดูเหมือนกิจกรรมที่ได้ทำในทริปนี้จะไม่ค่อยเป็นใจสำหรับการอาบน้ำแห้งเท่าไหร่เลยค่ะ ทั้งกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อ ดูแล้วการซักแห้งด้วยทิชชู่เปียกมันจะไม่เพียงพอซะแล้ว ขืนปล่อยไว้อย่างงี้มีหวังแมลงวันตอมแน่ สงสารเพื่อนร่วมทริปค่ะ T_T


สุดท้ายเหมือนสวรรค์จะมีความเห็นใจชาวต่างชาติอย่างเราอยู่บ้าง อาจารย์บอกว่ามีครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านเขาจะเปิดบ้านให้เราเข้าไปอาบน้ำในบ้านของเขาได้ (ใจดีมาก ๆ เลย นี่สินะเรียกว่านางฟ้ามาโปรด) ใครที่ไม่สะดวกใจจะอาบน้ำรวมก็สามารถเข้าไปอาบน้ำในบ้านเขาได้เลย

ภายนอกบ้านหลังนี้ดูเก่า ๆ เป็นบ้านชนบทเหมือนกับบ้านอื่น ๆ ที่เรียงรายอยู่ในหมู่บ้าน แต่พอได้เข้าไปในบ้านแล้วกลับรู้สึกประหลาดใจ การตกแต่งภายในบ้านดูสมัยใหม่ มีข้าวของเครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกับบ้านในเมืองทุกอย่าง ทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ส้วมอัตโนมัติ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้ดูลำบากเหมือนกับบ้านในความคิดที่เป็นบ้านชนบทหรือบ้านนอกอย่างที่นี่ ชำระร่างกายได้อย่างสบายใจแล้วก็มานั่งพัก ซึ่งคุณแม่ก็เอาน้ำชามาให้ดื่ม ดูแลอย่างดีทั้ง ๆ ที่เราไปรบกวนเขาด้วยซ้ำ (แถมลืมแปรงสีฟันไว้ที่บ้านเขาอีกต่างหาก วันรุ่งขึ้นก็ยังอุตส่าห์วิ่งเอามาให้ถึงบ้านอีกหลัง)


เห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกนึกย้อนกลับไปว่า “ชนบทหรือบ้านนอก” ในความคิดของเราและเขามันเป็นอย่างไรกันนะ
บ้านนอกสำหรับเราคงเป็นพื้นที่ ๆ ความเจริญไม่ค่อยเข้าถึง น้ำไฟใช้ไม่ได้อย่างใจ สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ค่อยครบครัน หรือไปถึงขั้นใช้ชีวิตลำบาก แต่บ้านนอกของเขามีส้วมอัตโนมัติให้ใช้ มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ พอได้มาลองใช้ชีวิตที่หมู่บ้านแห่งนี้ กลับรู้สึกว่าความหมายของเรากับเขาคงไม่เหมือนกันจริง ๆ

“ชนบทหรือบ้านนอก” อาจจะหมายถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่นที่ยังคงดำรงเป็นเอกลักษณ์อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ควบคู่ไปกับความทันสมัยในปัจจุบัน ดั้งเดิมที่ไม่ได้หมายถึงลำบาก ชาวบ้านที่นี่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบเดิม ทำอาชีพแบบเดิม แต่การใช้ชีวิตพื้นฐานก็สะดวกสบายขึ้นไปตามยุคสมัย ไม่ได้รู้สึกว่าทิ้งใครเอาไว้กับความล้าหลัง

ได้มาเห็นแบบนี้แล้วก็แอบอิจฉาญี่ปุ่นอยู่บ้างเหมือนกัน แล้วบ้านนอกในความคิดของทุกคนเป็นแบบไหนกันคะ ?