BLOG

บทความ

One day trip in NAOSHIMA เกาะแห่งการเยียวยา ตอนที่ 2

One day trip in NAOSHIMA เกาะแห่งการเยียวยา ตอนที่ 2

ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากที่ท้องอิ่มก็ได้เวลาออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป
แม้อากาศจะร้อนก็พอมีลมโกรกเบาๆ ให้ได้เย็นชื่นใจ วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศเป็นใจเสียเหลือเกิน

ระหว่างจากปั่นจักรยานก็โดนล่อลวงด้วยวิวสวยๆ อีกครา ถนนที่ทอดยาวลงไปจรดทิวเขาสีเขียวชอุ่มและท้องทะเลสีคราม มีคนปั่นจักรยานสวนมาเป็นพักๆ

ระหว่างนั้นก็เห็นป้ายบอกทางชี้ไปที่ “ศาลเจ้าสุโตคุเท็นโน” (崇徳天皇宮) เลยแวะเลี้ยวเข้าไป



เมื่อเข้าไปถึงพื้นที่นั้นค่อนข้างเงียบสงบจดแลดูสงัด ผิดไปจากแถวๆ พิพิธภัณฑ์ เสาหิน 2 ต้นพาดด้วยเชือกที่มักพบได้ตามศาลเจ้าของญี่ปุ่น และบันไดหินที่ปูทอดยาวขึ้นไปบดบังด้วยแมกไม้สองข้างทางเดินจนทางเดินดูสั้นลงถนัดตา


ความวังเวงชวนให้รู้สึกกังวล จึงตัดสินใจได้ว่า ไม่เดินขึ้นแน่นอน

เลยปั่นจักรยานย้อนกลับไปทางที่เข้ามา และเห็นดูป้ายบอกทางอีกครั้งก็พบว่ามีถนนให้ขึ้นไป แม้ว่าเส้นทางจะสูงชันและคดเคี้ยวกว่า แต่ก็รู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เมื่อตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงค่อยๆ ออกตัวถีบบันไดไปข้างหน้า และค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้น ล้อหมุนกำลังต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงอย่างสุดแรงเกิด จนในที่สุดก็เห็นเสาโทริอิหิน


บริเวณศาลเจ้าเงียบสงัดพอๆ กับด้านล่าง ไม่มีใครอยู่ในพื้นที่นั้นเลยแม้แต่คนเดียว เมื่อเดินเข้าไปใกล้ก็เห็นกระบะคันเล็กที่บรรทุกกล่องอยู่หลังรถ ประตูรถเปิดกว้างอยู่ แว่วเสียงวิทยุลอยออกมาจากที่นั่งในรถ บรรยากาศชวนให้นึกถึงฉากในหนังสือนิยายฆาตกรรมของญี่ปุ่นอย่างบอกไม่ถูก (นอกเรื่องไปซะไกล เหมือนกลับมาอ่าวไทย – -.” )




ศาลเจ้าสุโตคุเท็นโนหรือศาลเจ้าจักรพรรดิสุโตคุ (Emperor Sutoku) เป็นศาลเจ้าที่ชาวเกาะสร้างขึ้นเพื่อจักรพรรดิสุโตคุ ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 1156 ภายหลังที่จักรพรรดิสุโตคุพ่ายแพ้จากสงครามกบฏโฮเก็น พระองค์ได้มาประทับที่หาดโคโตดามะ บนเกาะนาโอชิมะ ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปยังแคว้นซานุกิซึ่งเจ้าเมืองในสมัยนั้นได้ปฏิเสธการเสด็จของพระองค์ทำให้พระองค์ต้องอาศัยอยู่ที่เกาะนาโอชิมะยาวนานถึง 3 ปี มีความผูกพันกัน บ้างก็ว่าชื่อของเกาะ “นาโอชิมะ” (直島) ก็มาจากจักรพรรดิสุโตคุ เนื่องจากพระองค์ทรงชื่นชมความซื่อสัตย์ อ่อนโยนและถ่อมตนของชาวเกาะ ซึ่งตรงกับคำว่า สุ-นาโอ-สะ (素直さ) ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง


หลังจากที่สักการะศาลเจ้าสุโตคุเท็นโนเรียบร้อยเลยมุ่งหน้าย้อนกลับลงมาทางเดินที่ปั่นจักรยานขึ้นมา
ขาขึ้นมามัวแต่ก้มหน้าก้มตาออกแรงถีบจักรยานจนไม่ได้ดูบ้านดูเมืองระหว่างทางเลย ขาลงได้พักหายใจหายคอเสียหน่อย


จักรยานค่อยๆ ไหลลงเนินแคบๆ ที่ขนาบด้วยต้นไม้สีเขียว มีช่องว่างตรงกลางเห็นท้องฟ้าสีครามและเมฆสีขาวปุย


ภาพวิวทะเลสีฟ้าครามและแมกไม้สีเขียวสลับกันไป ชวนจรรโลงใจ



เมื่อลงจากเนินก็เห็นอาคารร้างริมทะเลอยู่เบื้องหน้า บรรยากาศชวนให้จอดจักรยานดูเหลือเกิน ใจหนึ่งก็อยากจะเดินไป อีกใจก็รั้งไว้ไม่ให้ไป ยืนมองระยะไกลสักพักโดยหวังว่าจะมีใครสักคนเดินไปที่นั้นเผื่อติดสอยห้อยตามไปด้วย ทว่ารอแล้วรอเล่าก็ไม่มีใคร เลยตัดใจแล้วปั่นจักรยานต่อดีกว่า


ปั่นมาไม่นานก็เห็นป้ายร้านอุมิโฮตารุ เขียนด้วยตัวอักษรคาตาคานะ ウミホタル ซี่งหมายถึง หิ่งห้อยทะเล ความรู้สึกเหมือนโดนดูดด้วยชื่อร้าน พร้อมป้ายเมนูน้ำแข็งไสหน้าร้านก็รู้สึกเหมือนโดนเชื้อเชิญ


เมื่อเปิดประตูเข้าไป เสียงต้อนรับภาษาญี่ปุ่นที่ดูเป็นมิตรกล่าวทักทาย ที่นั่งในร้านมีทั้งแบบโต๊ะ และเคาท์เตอร์บาร์ให้ได้นั่งชมวิวข้างนอก โต๊ะข้างในยังว่างเปล่าไม่มีลูกค้า จึงวางของไว้ที่โต๊ะเคาท์เตอร์บาร์แล้วเดินไปสั่งอาหารที่เคาท์เตอร์ที่อยู่ด้านหน้าห้องครัว เมนูของร้านมีไม่มากแต่ก็เลือกยากพอตัว ตอนแรกตั้งใจจะสั่งสตรอว์เบอร์รี พอได้มาเห็นรูปเมนูอื่นๆ ที่แปะอยู่ที่ผนังหน้าครัวแบบลวกๆ แต่กลับดูสวยเฉยเลย ก็ชวนลังเลไม่น้อย

ด้วยคำว่า “ผลไม้ของคางาวะและเกาะนาโอชิมะ” จึงได้สั่งเมนูที่แสนเข้ากับอากาศที่แสนร้อนระอุ อย่าง “มิคังโคะโอริ” (みかん氷) ที่ทำจากส้มที่ปลูกในจังหวัดคางาวะ


รอไม่นานมิคังโคะโอริแสนอร่อยก็มาเสิร์ฟถึงโต๊ะ น้ำส้มแช่แข็งกลายเป็นไอศกรีมซอร์เบท์แสนอร่อยรสหวานอมเปรี้ยวช่วยเพิ่มความสดชื่น ด้านบนราดนมข้นหวานแบบฉ่ำๆ พร้อมประดับด้วยน้ำแข็งรูปส้มฝาน และด้านบนยังมีเปลือกส้มเชื่อมยิ่งช่วยเพิ่มรสสัมผัส


ระหว่างที่นั่งกินอยู่ถือโอกาสนั่งพักผ่อน ชมวิวทะเล และมองดูผู้คนที่ผ่านไป หลายคนมาเที่ยวเกาะนาโอชิมะคนเดียว น้อยนักที่จะมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ บ้างก็เดิน บ้างก็ปั่นจักรยาน นานๆ ทีก็มีรถโดยสารประจำทางผ่านไป


หลังจากพักร่างกายให้เย็นลงสักหน่อยก็ออกเดินทางต่อ


ความสนุก หรือจะเรียกว่าพิเศษดีล่ะ ของการเดินหรือปั่นจักรยานบนเกาะก็คือ เมื่อสุดทางบางครั้งเราก็จะเห็นทะเลอันกว้างใหญ่รอต้อนรับอยู่ที่ปลายทาง จะเรียกว่าเหมือนได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ไม่รู้ว่าจะดูพูดเกินจริงหรือเปล่านะ