BLOG

บทความ

ประเทศแห่งซอฟต์ครีม

ประเทศแห่งซอฟต์ครีม

คงไม่มีใครในที่นี้ที่ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นแล้วไม่ได้กินซอฟต์ครีม เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนในประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีขนมหวานชนิดนี้รอคุณอยู่เสมอ (^0^)/ พูดได้เลยว่าเป็นหนึ่งไฮไลท์ของการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ในการตามล่าหาซอฟต์ครีมในดวงใจ หรือจะเก็บแต้มซอฟต์ครีมทั่วทั้งญี่ปุ่นก็น่าสนุกดีนะคะ

เมนูขนมหวานซอฟต์ครีมที่ดูแล้วก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ จริงๆ แล้วมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานถึง 4,000 ปีเลยทีเดียว (*o*)
ทุกคนคิดว่า “ซอฟต์ครีม” มีต้นกำเนิดมาจากไหนกันคะ?


ต้นกำเนิดของซอฟต์ครีมมาจากประเทศในเอเชียเรานี่เอง นั่นคือประเทศจีนค่ะ ย้อนไปประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ตอนนั้นเริ่มมีการรีดนมวัว และน้ำนมวัวในสมัยนั้นถือว่ามีมูลค่ามากค่ะ การนำน้ำนมมาต้มเป็นเวลานานและนำไปทำให้แข็งด้วยหิมะ ถือเป็นต้นกำเนิดของซอฟต์ครีมและเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในสมัยนั้นเลยค่ะ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับสมัยนี้ก็คงจะรูปร่างออกมาคล้ายกับเชอร์เบทรสนม

มีทฤษฎีที่เล่ากันว่ามาร์โค โปโลได้เป็นผู้พาไอศกรีมรสนมหรือเชอร์เบทรสนมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในประเทศจีน ไปยังประเทศอิตาลีค่ะ โดยในปี ค.ศ. 1295 หลังจากมาร์โค โปโลได้เดินทางทั่วเอเชียเป็นเวลากว่า 25 ปี ก็ได้เดินทางกลับเวนิส และเขียนหนังสือบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ซึ่งได้นำวิธีการผลิตกลับไปยังอิตาลีด้วย ทำให้หลังจากนั้นไอศกรีมก็เริ่มแพร่หลายในยุโรปค่ะ

ประวัติศาสตร์ของไอศกรีม ซอฟต์เสิร์ฟหรือซอฟต์ครีมต่างๆ ขนมหวานเย็นสดชื่นที่เรารับประทานกันในทุกวันนี้มีประวัติศาสตร์มาอย่างนาวนานจริงๆ ค่ะ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำความเย็นเพื่อผลิตและเก็บรักษาไอศกรีม จนพัฒนาเป็นตู้ทำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอัตโนมัติ ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของซอฟต์ครีมในปัจจุบันค่ะ


ซอฟต์ครีมเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 โดยจำหน่ายในงานคาร์นิวัลและเป็นครั้งแรกที่จำหน่ายพร้อมกับโคนไอศกรีม หลังจากนั้นได้มีการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และอีกมากมาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาซอฟต์ครีมต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ต่อมาซอฟต์ครีมในประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มพัฒนาและผลิตตู้แช่แข็งเองในประเทศ แล้วความนิยมของซอฟต์ครีมในประเทศญี่ปุ่นก็แพร่หลายไปทั่วทุกหนแห่ง เริ่มมีการจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งซอฟต์ครีมโฮมเมดที่ผลิตจากฟาร์มปศุสัตว์ที่ฮอกไกโดก็ได้รับความนิยมมาก รวมถึงเกิดเป็นซอฟต์ครีมประจำท้องถิ่นต่างๆ ขึ้นด้วยเช่นกัน

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นค่ะ ในปี ค.ศ. 1990 เหล่าผู้ผลิตซอฟต์ครีมหรือผู้ผลิตตู้แช่แข็ง ก็ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสมาคม Japan Soft Cream Association เพื่อปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์ครีม สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคและขยายตลาด โดยมีการกำหนดให้วันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่จำหน่ายซอฟต์ครีมครั้งแรงในประเทศญี่ปุ่น เป็น “วันซอฟต์ครีม” ประจำประเทศญี่ปุ่นด้วยค่ะ
(ขอบคุณที่มาจาก https://www.softcream.org/history/)


กว่าจะรู้ตัวซอฟต์ครีมก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นไปแล้ว
หลังจากย้อนเวลาไปรับรู้ประวัติที่มากันแล้ว ก็กลับมาในปัจจุบันกันค่ะ

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซอฟต์ครีมนั้นไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปเท่านั้น ยังเกิดเป็นซอฟต์ครีมประจำท้องถิ่นต่างๆ ที่ผู้ผลิตในนำซอฟต์ครีมมาประยุกต์ให้เข้ากับวัตถุดิบเด่นดังในท้องถิ่นของตัวเอง คราวนี้เลยจะพาทุกคนไปตะลุยซอฟต์ครีมของที่ต่างๆ กันค่ะ

ซอฟต์ครีมที่เรารู้จักกันอย่างแน่นอน และใครๆ ก็ต้องเคยกิน ก็คือ “ซอฟต์ครีมรสนม” สามารถหารับประทานได้ทั่วไป ถือว่าเป็นรสชาติแสตนดาร์ดที่หารับประทานได้ง่ายมากๆ ค่ะ จะเจอตามร้านคาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าได้ทั่วไปเลย





พิเศษขึ้นมาอีกนิด กับซอฟต์ครีมรสชาติต่างๆ อย่างนึกถึงญี่ปุ่นก็ต้อง “ชาเขียว”




รสชาติชาเขียวก็ถือเป็นรสชาติที่หาได้ง่ายพอๆ กับรสนมค่ะ

และที่ซอฟต์ครีมของประเทศญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากกว่าที่อื่น ก็คือส่วนผสมจากวัตถุดิบเด่นดังของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น


รสมันหวาน (โตเกียว)


รสบ๊วย (จังหวัดอิบารากิ)


รสโฮจิฉะ (จังหวัดโคจิ)


รสโชยุ (จังหวัดคางาวะ)


รสเกาลัด (จังหวัดคางาวะ)


รสมะกอก (เกาะโชโดะชิมะ จังหวัดคางาวะ)


รสนมเลมอน (จังหวัดโทจิกิ)


รสชาโคล (จังหวัดฟุกุชิมะ)


รสส้ม (จังหวัดเอฮิเมะ)
และอีกมากมาย *0*

นี่ขนาดเพียงแค่ไม่กี่สถานที่เท่านั้นนะคะ ยังละลานตาขนาดนี้ ซึ่งซอฟต์ครีมรสชาติต่างๆ ว่าน่าสนใจแล้ว ความครีเอทของชาวญี่ปุ่นไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ค่ะ ยังมีซอฟต์ครีมแปลกๆ ที่เราเห็นแล้วอาจจะขมวดคิ้ว แต่น่าสนใจจนต้องลองสักครั้ง

อย่าง “ซอฟต์ครีมไข่ออนเซ็น” ที่มักจะพบเจอตามเมืองออนเซ็นต่างๆ ไข่ออนเซ็นที่ใส่ในซอฟต์ครีม ดูไม่น่าเข้ากันแต่กินรวมกันแล้วก็กลายเป็นอร่อยเฉยเลยค่ะ



ซอฟต์ครีมไข่ออนเซ็น (เมืองอุนเซ็น จังหวัดนางาซากิ)

อีกซอฟต์ครีมที่แปลกไม่แพ้กันคือ “ซอฟต์ครีมทองคำเปลว” ไม่ว่าของดีของดังประจำท้องถิ่นคืออะไร ก็สามารถจับมายำรวมกับซอฟต์ครีมได้หมดจริงๆ ค่ะ


ซอฟต์ครีมทองคำเปลว (เมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิกาวะ) ที่ต้องเป็นทองคำเปลวก็เพราะ เมืองคานาซาวะเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวคุณภาพดีและจำนวนการผลิตเยอะเป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นค่ะ ทองคำเปลวใบใหญ่นำมาแปะรอบซอฟต์ครีม ดูน่ากินแบบแปลกๆ ค่ะ สามารถกินได้โดยไม่มีอันตรายนะคะ ใครไปเที่ยวต้องขอให้ลองดูสักครั้งค่ะ

แวะมาเที่ยวเกาะชิโกกุ จังหวัดคางาวะกันบ้าง ถ้าใครรู้จักจังหวัดคางาวะ คงรู้ว่าคางาวะมีอีกชื่อหนึ่งว่าจังหวัดอุด้งค่ะ เพราะฉะนั้นจะพลาดไม่ได้เลยกับ “ซอฟต์ครีมอุด้ง” !


บอกแล้วว่าอะไรก็นำมาทำเป็นซอฟต์ครีมได้ทั้งนั้นค่ะ ^0^ ซอฟต์ครีมสีขาวที่เป็นเส้นเหมือนอุด้ง ทั้งซอสและต้นหอมที่โรยด้านบน นึกว่ายกชามอุด้งมาไว้ในโคนไอศกรีมเลยค่ะ แยกแทบไม่ออกว่าของคาวหรือหวาน เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ห้ามพลาดเลยนะคะ


นอกจากนี้ก็มี “ซอฟต์ครีมโออิริ” อีกอย่างที่เป็นของขึ้นชื่อของคางาวะค่ะ ข้าวพองสีสันน่ารักโรยบนซอฟต์ครีม เข้ากั๊นเข้ากัน

สุดท้าย คือ “ไซเดอร์โฟลต” หรือน้ำไซเดอร์ที่โปะด้านบนด้วยไอศกรีมนั่นเอง
ณ เกาะโชโดะชิมะ จังหวัดคางาวะ ที่ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์โชยุ นอกจากโชยุที่กลายมาเป็นซอฟต์ครีมแล้วก็ยังมีโชยุที่กลายมาเป็นไซเดอร์เช่นกันค่ะ เพราะฉะนั้นจับมามัดรวมกันเป็น “โชยุไซเดอร์โฟลต” ซะเลย!



เมนูซอฟต์ครีมของแต่ละแห่งน่ากินไปหมดเลยใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็สามารถกินซอฟต์ครีมซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ เพราะรสชาติไม่เหมือนกันเลย! ถือเป็นการเช็คอินอีกแบบที่ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ต้องมีการแชะ📷ชิม😋ซอฟต์ครีมประจำถิ่นค่ะ


ไหนใครมีซอฟต์ครีมของที่ไหนในดวงใจ มาแชร์ให้ฟังกันได้นะคะ ^^