BLOG
บทความ
หลังจากเดินชอปปิงและถ่ายรูปที่วัดเซนโซจิในตอนที่แล้วไปกันแล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ?
คราวนี้เราจะมาค้นหาประวัติศาสตร์ของวัดแห่งนี้ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละมุม พร้อมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ที่สายมูไม่ควรพลาด!
พร้อมแล้วเราก็มาค่อย ๆ ทำความรู้จักวัดที่เก่าแก่ที่สุดในโตเกียวกันต่อเลยดีกว่า
เมื่อเดินจนสุดทางของถนนชอปปิงนากามิเสะแล้ว เราก็จะพบ “ประตูโฮโซมง” หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “นิโอมง”
ประตูนี้มีความคล้ายกับประตูคามินาริมงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของวัด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าและมีโคมแดงยักษ์แขวนอยู่บริเวณประตูเหมือนกันค่ะ โดยโคมแดงตรงกลางจะมีขนาดเล็กกว่าโคมแดงตรงประตูคามินาริมง มีขนาดสูง 3.75 เมตร กว้าง 2.7 เมตร และหนัก 450 กิโลกรัมค่ะ อีกทั้งประตูโฮโซมงนี้จะมีโคมขนาดเล็กลงมาแขวนอยู่อีกทั้งสองข้างซึ่งทำจากทองสัมฤทธิ์ หนักถึง 1 ตันเลยทีเดียว
จากภาพที่เราเห็นจะมีรูปปั้นของเทพตั้งอยู่ขนาบทั้งสองฝั่งของประตูอีกด้วย เทพนี้ชื่อว่า “นิโอ” เทพนิโอถือว่าเป็นผู้พิทักษ์ที่น่าเกรงขามที่คอยคุ้มครองประตูโฮโซมงอยู่ จึงเป็นที่มาอีกหนึ่งชื่อของประตูนี้ค่ะ
บริเวณนี้ก็ถือว่าเป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยวอีกหนึ่งจุด นอกจากความอลังการของประตูแล้ว ยังสามารถเก็บภาพพร้อมกับเจดีย์ 5 ชั้นที่อยู่ใกล้ ๆ กันได้อีกด้วย
ซึ่งความสำคัญของประตูโฮโซมงคือ ทำหน้าที่เป็นคลังเก็บพระสูตร พระไตรปิฎก และสมบัติของวัดค่ะ
พร้อมแล้วก็ผ่านประตูวัดเข้าไปข้างในกัน!
แต่… เดี๋ยวค่ะ…
ถ้าทุกคนเดินผ่านประตูโฮโซมงไปเรียบร้อยแล้ว ลองหันกลับมามองที่ประตูกันนิดนึง…
จะพบกับรองเท้าฟางขนาดใหญ่แขวนอยู่ตรงประตูวัดทั้งสองฝั่งค่ะ
สงสัยไหมคะว่าทำไมต้องเป็นรองเท้าฟาง? และทำไมต้องเป็นรองเท้าฟางที่ใหญ่บิ๊กเบิ้มขนาดนี้?
รองเท้าฟางนี้เรียกว่า “วาราจิ”
รองเท้าฟางเป็นรองเท้าที่ใช้กันในอดีต และอีกนัยหนึ่งก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเดินทางมาของนักบวชหรือผู้พิทักษ์ที่มีพลังขจัดสิ่งชั่วร้าย ทำให้เมื่อปีศาจได้พบเห็นรองเท้าฟางก็จะกลัวและหนีไป ยิ่งรองเท้าใหญ่มากเท่าไหร่ ปีศาจก็จะยิ่งกลัวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งรองเท้าฟางที่แขวนอยู่ตรงประตูโฮโซมง มีขนาดยาว 4.5 เมตร กว้าง 1.5 เมตร และหนัก 500 กิโลกรัมเลยทีเดียว เชื่อกันว่าเมื่อปีศาจได้เห็นรองเท้าฟางคู่นี้ก็จะคิดว่า “ผู้ที่ใส่รองเท้าที่ใหญ่ขนาดนี้กำลังปกป้องวัดแห่งนี้อยู่หรือ” ก็จะเกิดความกลัวและหนีไป อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพละกำลังของเทพนิโอที่อยู่ด้านหน้าประตูอีกด้วยค่ะ
แต่ไม่ได้มีอยู่ที่วัดเซนโซจิเพียงแห่งเดียว โดยปกติแล้วมักจะแขวนรองเท้าฟางไว้บริเวณหน้าวัดค่ะ หากทุกคนไปเยือนวัดญี่ปุ่นที่อื่น ๆ ก็ลองมองหารองเท้าฟางกันได้
ดังนั้นรองเท้าฟางจึงกลายเป็นเครื่องรางที่ใช้ในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเครื่องรางหรือพวงกุญแจที่ขายอยู่ตามร้านขายของฝากถึงเป็นรูปรองเท้าฟาง
รองเท้าฟางวาราจิที่ประตูโฮโซมงนี้ได้รับมาจากผู้ศรัทธาที่เมืองมุระยามะ จังหวัดยามากาตะ โดยมีการอุทิศให้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 8 แล้วค่ะ (ล่าสุดปี ค.ศ. 2018) แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ศรัทธาในวัดเซนโซจิก็ไม่ได้มีแค่ในโตเกียวเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นเลยค่ะ
และเมื่อมาวัดจะขาดสิ่งนี้ไปได้อย่างไร
ถึงเวลาของสายมู สายดวงแล้วค่ะ
“เซียมซี” หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมิกุจิ” ค่ะ (อ่านเรื่อง “โอมิกุจิ” เพิ่มเติม)
เป็นการทำนายดวงชะตาแบบญี่ปุ่นที่จะมาในรูปแบบของกระดาษ วิธีการเสี่ยมเซียมซีของวัดเซนโซจิคือหยิบกล่องเหล็กหกเหลี่ยมขึ้นมาและเขย่าจนกว่าจะมีไม้ด้านในออกมาค่ะ โดยบริเวณปลายไม้ก็จะระบุหมายเลขอยู่ (แต่จะเป็นตัวคันจิ สามารถเทียบเป็นรูปภาพแทนได้ค่ะ) เราก็ไปหยิบกระดาษคำทำนายตามหมายเลขของเราได้เลยตรงลิ้นชักที่เรียงรายอยู่ค่ะ (อย่าลืมคืนไม้กลับไปในกล่องเดิมด้วยนะคะ)
และด้วยความที่วัดเซนโซจิมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมากันเยอะมาก ทางวัดก็ได้มีการจัดเตรียมภาษาอังกฤษไว้ให้พร้อมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายหรือขั้นตอนการเสี่ยงเซียมซี ใครที่ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ต้องกังวลไปนะ
ค่าใช้จ่ายในการเสี่ยงเซียมซีครั้งนี้อยู่ที่ 100 เยนค่ะ
โดยปกติของการเสี่ยงเซียมซีคือ ถ้าเราได้คำทำนายที่ดีก็ให้นำติดตัวกลับไป ส่วนถ้าได้คำทำนายที่ไม่ดีก็คงจะไม่อยากเอากลับไปใช่ไหมล่ะคะ ดังนั้นทุกที่ที่มีการเสี่ยงเซียมซีก็จะมีจุดผูกโอมิกุจิตั้งไว้อยู่ด้วยค่ะ
กระดาษที่ผูกอยู่ที่รั้วหรือเชือกหรือต้นไม้ก็แล้วแต่ตามแต่ละสถานที่ ก็คือโอมิกุจิอันโชคร้ายที่เจ้าของไม่อยากเอากลับไปนั่นเอง
ส่วนอาคารฝั่งตรงข้าม ก็จะเป็นร้านขายเครื่องรางต่าง ๆ ของวัดค่ะ
จริง ๆ แล้วเราผ่านตรงนี้ไปไหว้สักการะเจ้าแม่กวนอิมกันก่อนดีกว่าค่ะ (เผื่อเจ้าแม่กวนอิมจะประทานพรโชคดีมาให้เรา ^^) ซึ่งเขาว่ากันว่าเซียมซีของวัดเซนโซจิเนี่ย แม่นมาก ๆ ด้วยค่ะ
ก่อนที่จะเข้าไปไหว้สักการะ วัดทุกที่ของญี่ปุ่นจะมีบ่อน้ำอยู่ด้านหน้าเสมอ ใครที่ไปเที่ยววัดบ่อยก็น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับบ่อน้ำที่มีน้ำไหลตลอดเวลาและกระบวยที่วางคว่ำเอาไว้ ซึ่งบ่อน้ำดังกล่าวก็เอาไว้ให้เราชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าไปสักการะเทพเจ้าด้านในนั่นเอง
สำหรับใครที่ยังไม่รู้วิธีการนะคะ ง่ายนิดเดียวค่ะ
หยิบกระบวยขึ้นมาตักน้ำในบ่อ แล้วล้างมือข้างซ้ายและข้างขวา หลังจากนั้นเทน้ำลงในอุ้งมือ ยกอุ้งมือขึ้นจรดปากและใช้น้ำบ้วนปาก (หากไม่สะดวกเอาน้ำแตะริมฝีปากอย่างเดียวก็ได้ค่ะ) หลังจากนั้นตักน้ำอีกครั้งและยกกระบวยตั้งขึ้นเพื่อให้น้ำในกระบวยไหลลงมาที่ด้ามจับ เป็นการล้างกระบวยในตอนสุดท้าย เพียงแค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วค่ะ
เมื่อเราพร้อมแล้วก็ไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมกันค่ะ
แต่…
ก่อนที่เราจะเดินเข้าอุโบสถหลัก ด้านหน้าของอาคารจะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งเราจะคุ้นตากันดีกับภาพของควันธูปที่ลอยโขมงกับผู้คนมากมายมารุมกันอยู่ตรงนี้
© Matcha
สงสัยไหมคะว่าทำไม?
โดยปกติถ้าเราเจอควันก็จะหลบ ไม่อยากที่จะสัมผัสมันเลยใช่ไหมล่ะคะ
แต่ควันธูปที่มาจากกระถางธูปที่เรียกว่า “โจโคโระ” นี้ มีแต่คนอยากเข้าไปใกล้ค่ะ
ว่ากันว่าพิธีกรรมนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจีน เชื่อว่าการอาบควันธูปจะเป็นการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ อีกทั้งมีความเชื่อว่าถ้าเราอาบควันที่บริเวณไหนของร่างกายหรือกวักควันเข้าที่จุดใดของร่างกายก็จะทำให้หายจากอาการเจ็บป่วย หรือถ้ากวักเข้าหาสิ่งใดก็จะทำให้สิ่งนั้นดียิ่งขึ้น เช่น กวักใส่หัวให้ฉลาดขึ้น กวักใส่กระเป๋าตังให้มีเงินไหลมาเทมา อะไรประมาณนี้ค่ะ
ก็เลยกลายเป็นภาพที่ทุกคนจะรุมล้อมกระถางธูปบริเวณหน้าอุโบสถกันอย่างหนาแน่น
บริเวณใกล้ ๆ จะมีร้านจำหน่ายธูป โดยเราสามารถซื้อจากตรงนั้นได้ค่ะ แต่ถ้าใครที่มาในเวลาเช้าอย่างนี้ ร้านจำหน่ายธูปจะยังไม่เปิด ก็จะพบเจอบรรยากาศโล่ง ๆ แบบนี้ค่ะ ดูสงบไปอีกแบบ
พร้อมของจริงแล้วค่ะ เราไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมกัน!
อุโบสถหลักที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่กวนอิม (ที่กล่าวไปเมื่อตอนที่แล้ว) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ แต่ที่นี่เคยได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ในการโจมตีกรุงโตเกียวเมื่อปี ค.ศ. 1945 มาก่อน และในปี ค.ศ. 1958 ก็ได้บูรณะขึ้นมาใหม่จากเงินบริจาคของผู้ศรัทธาทั่วประเทศญี่ปุ่น
รูปปั้นองค์เจ้าแม่กวนอิมในประวัติศาสตร์ของวัดแห่งนี้ได้ประดิษฐานอยู่ในตู้หิ้งพระอย่างมิดชิด ว่ากันว่ารูปปั้นดังกล่าวยังไม่มีการเปิดเผยอย่างแน่ชัดว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ดูลึกลับมากเลยใช่ไหมคะ เลยมีคำพูดที่ว่าถ้าใครที่มองเข้าไปข้างในแล้วสามารถมองเห็นองค์เจ้าแม่กวนอิมได้จะถือว่าเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมาก ๆ หรือโชคดีสุด ๆ เลยทีเดียวค่ะ
ส่วนการไหว้สักการะเจ้าแม่กวนอิมสามารถทำได้โดยการโยนเหรียญลงไปในกล่องบริจาคด้านหน้า และไหว้หรืออธิษฐานในสิ่งที่เราต้องการขอพรค่ะ
โดยปกติคนญี่ปุ่นจะใช้เหรียญ 5 เยนในการโยน เพราะว่า “5 เยน” ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า “โกะเอน (五円)” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “โกะเอน (ご縁)” ที่หมายถึงโชคค่ะ และยังมีอีกความเชื่อหนึ่งว่าสิ่งร้าย ๆ จะลอดผ่านรูตรงกลางไปค่ะ
ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อย่าเพิ่งละลายเหรียญเยนไปจนหมดนะคะ หากมีเหรียญ 5 เยนที่มีรูตรงกลางก็เก็บไว้เป็นที่ระลึกกันได้นะ ^^
สำหรับอุโบสถหลักจะเปิดตั้งแต่ 6.00 – 17.00 น. ในเดือน เม.ย. – ก.ย. และ 6.30 – 17.00 น. ในเดือน ต.ค. – มี.ค. ค่ะ ใครที่ต้องการหลีกหนีในช่วงที่คนพลุกพล่านแต่อยากมาสักการะเจ้าแม่กวนอิมก็สามารถมาในเวลาดังกล่าวได้เลย
แอบกระซิบว่ามีคนที่มาขอพรกับเจ้าแม่กวนอิมที่วัดเซนโซจิแล้วถูกหวยด้วยนะคะ 🤭
ก่อนกลับก็มาแวะถ่ายรูปกับ “เจดีย์ 5 ชั้น” กันสักหน่อยค่ะ
เจดีย์ 5 ชั้นของวันเซนโซจิ ต่อเติมขึ้นไปจากตัวอาคารเป็นจำนวน 5 ชั้น มีความสูง 53.32 เมตร เป็นสถาปัตยกรรมที่เห็นได้บ่อย ๆ ในวัดญี่ปุ่น ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ประเทศต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่เมื่อได้รับการเผยแผ่ผ่านมาทางประเทศจีน เจดีย์ในประเทศอินเดียที่มีลักษณะเป็นโดม ก็กลายมาเป็นเจดีย์ 5 ชั้นที่เราเห็นในปัจจุบันค่ะ
มีความเชื่อว่าเจดีย์เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสวรรค์ มักใช้เป็นที่เก็บอัฐิของผู้เสียชีวิต ซึ่งเจดีย์ 5 ชั้นของวัดเซนโซจิได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระอัฐิของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ชั้นบนสุด ซึ่งได้รับมาจากวัดอิสุระมุณิยะในศรีลังกาค่ะ
พอได้รู้จักประวัติศาสตร์และความหมายในมุมต่าง ๆ ของวัดเซนโซจิไปแล้ว
วัดเซนโซจิในภาพจำของทุกคนเปลี่ยนไปบ้างไหมคะ?
แต่ก่อนฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เวลาไปท่องเที่ยวก็ไม่ได้สนใจในความเป็นมาหรือความหมายของสถานที่นั้น ๆ มากมายนัก ก็เพียงแค่ไปเยือนและจบไป แต่เมื่อลองได้รับรู้ที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ ก็รู้สึกว่าทริปท่องเที่ยวของตัวเองมีความหมายและน่าจดจำมากขึ้นค่ะ
จึงหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การท่องเที่ยววัดเซนโซจิของทุกคนมีความหมายมากขึ้น สนุกมากขึ้น และน่าจดจำมากขึ้นนะคะ