BLOG

บทความ

ให้คุกกี้ทำนายกัน!

ให้คุกกี้ทำนายกัน!

สัปดาห์ที่แล้วให้โอมิกุจิทำนายกันมาแล้ว สัปดาห์นี้ถึงเวลาของตัวจริงเสียงจริงอย่างคุกกี้เสี่ยงทาย (Fortune Cookie) แล้วล่ะค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็… ให้คุกกี้ทำนายกัน!

แต่หากจะบอกว่าคุกกี้เสี่ยงทายนั้นเป็นตัวจริงเสียงจริงก็คงจะไม่ถูกไปซะทีเดียวนะคะ เพราะว่า… เพราะว่า… เพราะว่า… เพราะว่าความจริงแล้วดูเหมือนว่าคุกกี้เสี่ยงทายนั้นจะมีที่มาจากโอมิกุจินั่นเองค่ะ ถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว! และความจริงในเวอร์ชันนี้นั้นดูมีความเป็นไปได้มากที่สุด ฉันจึงนำมาเล่าให้ทุกคนอ่านกันค่ะ


คุกกี้เสี่ยงทาย คุกกี้กลิ่นวานิลลารสหวาน แผ่นบางกรอบ รูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เมื่อบิขนมให้แตกจะพบข้อความลับพิเศษแอบซ่อนอยู่ มักใช้เสิร์ฟที่ร้านอาหารจีนในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับส้มฝานเป็นแผ่นบาง รับประทานกับคู่ชาถ้วยเล็ก โดยจะเสิร์ฟเป็นของหวานให้ลูกค้าหลังจบมืออาหารพร้อมใบเสร็จ ข้อความลับพิเศษที่ว่านี้นั้นค่อนข้างหลากหลายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นวลี คำคม คำทำนาย คำสอน คำอวยพร ไปจนถึงหมายเลขนำโชค (เพื่อนำไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล) และใช่ค่ะ คุกกี้เสี่ยงทายเป็นขนมสัญชาติอเมริกัน ที่เสิร์ฟในร้านอาหารจีน (ในสหรัฐอเมริกา) แต่มีต้นกำเนิดมาจากชาวญี่ปุ่น… ค่ะ

ก่อนที่จะกลายมาเป็นคุกกี้เสี่ยงทายอย่างในทุกวันนี้นั้น ขนมชนิดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการดัดแปลงมาใช้คุกกี้ชนิดหนึ่งในการเสี่ยงทาย แทนการใช้แท่งมิคุจิโบและโอมิกุจิ (กระดาษคำทำนาย) ในช่วงศตวรรษที่ 19 คุกกี้ที่ว่านี้คือ สึจิอุระเซมเบ้ (Tsujiura Senbei: 辻占煎餅) ผลิตโดยร้านขนมอบขนาดเล็กทั้งหลายที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ศาลเจ้าชินโต ในพื้นที่รอบนอกเกียวโต ซึ่งว่ากันว่าร้านแรกสุดเลยนั้นคือร้านที่อยู่ในศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ (Fushimi Inari Taisha) หรือศาลเจ้าที่มีเสาโทริอิสีแดงนับหมื่นต้นนั่นเอง

หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1906 – 1914 สุเยอิชิ โอคามุระ (Suyeichi Okamura) ชาวญี่ปุ่นผู้อพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดร้านขนมญี่ปุ่นชื่อ เบนเคียวโด (Benkyodo) ในซานฟรานซิสโก ผลิตคุกกี้เสี่ยงทายชิ้นใหญ่แบบญี่ปุ่นหรือสึจิอุระเซมเบ้ และผลิตส่งให้ร้านน้ำชา Japanese Tea Garden ของมาโกโตะ ฮากิวาระ (Makoto Hagiwara) ที่โกลเด้น เกต พาร์ก (Golden Gate Park) เรื่อยมาจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นในแคลิฟอร์เนียถูกส่งไปเข้าค่ายกักกัน ชาวจีนในอเมริกาจึงเริ่มผลิตคุกกี้เสี่ยงทายเองและขายให้ร้านอาหาร แม้คุณโอคามุระจะกลับมาทำขนมหลังสงคราม คุกกี้เสี่ยงทายก็ได้กลายเป็นของร้านอาหารจีนไปเสียแล้ว

ถึงแม้ว่าคุกกี้เสี่ยงทายจะพัฒนามาจากสึจิอุระเซมเบ้แต่ขนมทั้งสองนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่นะคะ โดยที่สึจิอุระเซมเบ้จะมีสีที่เข้มกว่า ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าจึงมีรสที่หวานน้อยกว่า มีส่วนผสมของมิโซะขาวและงา ที่สำคัญคือกระดาษคำทำนายจะถูกสอดไว้ในที่ว่างระหว่างรอยพับของคุกกี้ ดังนั้นไม่ต้องบิให้หักก็สามารถหยิบกระดาษคำทำนายออกมาอ่านได้

ฉันเชื่อค่ะว่าเวลานี้ต้องมีท่านผู้อ่านที่อยากจะลิ้มลองรสชาติของสึจิอุระเซมเบ้แน่เลย ไม่ต้องห่วงนะคะ ปัจจุบันนี้เรายังพบสึจิอุระเซมเบ้ได้ในบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น อย่างเมืองคานาซะวะ จังหวัดอิชิกาวะ บางย่านในเกียวโต รวมไปถึงร้านรุ่นแรกอย่างร้านที่อยู่ในย่านศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ (Fushimi Inari Taisha) ซึ่งยังมีหลายร้านที่ยังทำขนมด้วยมือและใช้พิมพ์แบบโบราณค่ะ

ส่วนตัวฉันนั้นขอจบเรื่องเล่านี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะหากเล่ายาวว่านี้ก็เกรงว่าจะทนต่อความอยากลิ้มลองในรสชาติของสึจิอุระเซมเบ้ไม่ไหว แล้วพบกันอีกในเรื่องเล่าเรื่องต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ